จงวิ่งดันกำแพง แต่อย่าชนมัน

เมื่อวานได้มีโอกาสให้คำปรึกษากับพี่สาวของเพื่อนที่กำลังฝึกตัวเองเพื่อเข้าแข่งขันไตรกีฬาระยะแรก

เมื่อพี่สาววิ่งมาได้ประมาณเดือนครึ่ง เริ่มเจ็บด้านข้างหน้าแข้ง จากการซักประวัติและตรวจร่างกายคร่าวๆผ่านทางโทรศัพท์ ก็พบว่า อาการเจ็บนั้นน่าจะมาจากการใช้งานกล้ามเนื้อที่มากเกินไปหากเทียบกับกำลังที่มีอยู่เดิม

คำว่ามากเกินไปของแต่ละคนไม่เหมือนกัน พี่สาววิ่งได้ไม่เร็วมาก และวิ่งช้าลงพร้อมกับอาการเจ็บที่มากขึ้น นั่นแสดงว่า กล้ามเนื้อไม่คุ้นเคยกับการวิ่งที่เป็นการเคลื่อนไหวแบบใหม่ของร่างกาย การมีแรงกระแทกต่อขาที่มากขึ้นเมื่อเทียบกับการเดินปกติประมาณ 3 เท่านี่คงไม่ใช่เรื่องสนุกของกล้ามเนื้อที่ไม่เคยถูกใช้งานลักษณะนี้มาก่อน ในขณะที่บางคนสามารถวิ่งได้เร็วกว่าและไม่เจ็บเลย เมื่อเริ่มวิ่งที่ระยะเวลาครึ่งเดือนเท่าๆกันด้วยว่าร่างกายอาจเคยได้เดินหรือวิ่งมาบ้างแล้ว แต่จะเจ็บหลังจากนั้นหรือเปล่า ก็ไม่อาจรู้ได้

คำตอบอยู่ที่สรีระร่างกายของแต่ละคนไม่เหมือนกัน พฤติกรรมการใช้ร่างกายแต่ละคนไม่เหมือนกัน คนที่เริ่มออกกำลังใหม่ๆ หากยังไม่ต่อเนื่องเกิน 6 เดือน และหักโหมมากเกินไป จะมีโอกาสบาดเจ็บได้ง่าย เพราะถ้าน้อยกว่า 6 เดือน ร่างกายยังปรับตัวไม่ได้ และยังไม่ติดการออกกำลังกาย ซึ่งอาจทำให้ความสม่ำเสมอในการออกกำลังกายยังไม่มีเพียงพอ

จริงๆแล้วร่างกาย “เริ่ม” ปรับตัวในช่วงเวลา 3 เดือน เริ่มในที่นี้คือ เริ่ม “จำ” การเคลื่อนไหวแบบซ้ำๆ แบบใหม่นี้ได้ เมื่อจำได้แล้ว จะเริ่มปรับมุมองศา หรือแรงการเคลื่อนไหวได้ดีขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้ นอกจากออกกำลังแบบคาร์ดิโอแล้ว ต้องมีการเพิ่มความแข็งแรงควบคู่กันไปด้วย ไม่รวมการอบอุ่นร่างกายก่อนออกกำลังกาย การผ่อนคลายกล้ามเนื้อหลังออกกำลังกาย และการยืดกล้ามเนื้อ

การปล่อยให้ร่างกายได้มีช่วงเวลาปรับตัวนั้น ยังรวมถึงการปล่อยให้ร่างกายได้มีเวลาพักผ่อนอย่างเพียงพอด้วย ควรนอนอย่างน้อย 7-8 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งเป็นเวลาขั้นต่ำที่ร่างกายควรได้รับ การใช้ชีวิตแบบ work hard & play hard นั้น ไม่ใช่เรื่องดีต่อร่างกายแน่ๆ

การฝึกซ้อมที่ดี คือการหาจุดจำกัดของตัวเอง จุดจำกัดในที่นี้ เราขอเปรียบเทียบเหมือน “กำแพง” นะคะ กำแพงนี้จะมาขวางหน้าเราไว้ที่จุดจำกัดนั่นเอง เร่งยังไง ทนยังไง อึดยังไง ฝืนยังไง ก็ไปไม่ได้มากกว่านี้ เมื่อเจอกำแพงนี้แล้ว คนที่เริ่มฝึกส่วนใหญ่ไม่อยากจะหยุด หรือถอยหลังแม้เพียงนิดเดียว เพราะอุตส่าห์วิ่งมาตั้งไกลแล้ว “เสียดาย” ความเร็วดีๆที่ทำได้ ระยะทางไกลกว่าที่เคยทำได้ จึงเลือกที่จะกัดฟัน แล้ววิ่งชนกำแพงนี้ไป ด้วยการเร่งความเร็วอย่างทันใด หรือออกแรงหนักอย่างทันใด คงไม่ต้องบอกผลว่าจะเป็นยังไง เจ็บตัวแน่ๆ ทุกคน ไม่ว่าจะมืออาชีพ หรือมือสมัครเล่น หนีไม่พ้นค่ะ

วิธีการแก้ง่ายๆก็คือ “อย่าฝืน” อย่าไปชนกำแพงนั้น แต่จงออกแรงยืนดันกำแพงนั้นแบบเบา ๆ ไปก่อนพอร่างกายชินที่ความหนักนั้น ก็ค่อยๆออกแรงดันมากขึ้น ๆ เรื่อย ๆ จนกว่ากำแพงจะเริ่มเคลื่อนไปข้างหน้า เมื่อเอาชนะแรงเสียดทานได้แล้ว จึงผลักให้กำแพงถอยไปไกลออกไปอีก เปรียบเหมือน การฝึกซ้ำๆอยู่ที่จุดจำกัดนั้นอีกพักหนึ่ง จนเพื่อนๆรู้สึกว่ามันง่ายขึ้นแล้ว จึงค่อยเพิ่มความยากของการฝึกต่อไปนั่นเอง

เช่น อยากจะวิ่ง 5 กิโลเมตรให้ได้ที่ความเร็วสม่ำเสมอ 6 นาทีต่อกิโลเมตรแล้ว แต่วิ่งอย่างไรก็ไม่ได้สักที เต็มที่ก็ได้แค่ 6.2 หลายคนพยายามออกแรงถีบขา หรือแกว่งแขนมากขึ้น อาจทำได้ ทำไม่ได้ แต่โอกาสที่กล้ามเนื้อจะทนไม่ไหว และเกิดการบาดเจ็บได้นั่นมีสูง ดังนั้นเพื่อนๆอาจวิ่งที่ความเร็ว 6.2 นาทีต่อกิโลเมตรไปก่อน จนร่างกายชิน จึงค่อยฝึกเพิ่มความเร็ว ซึ่งมีหลายเทคนิค เช่น Tempo หรือ Sprint (คงมีโอกาสได้พูดถึงต่อไป) ในขณะเดียวกัน ให้ฝึกความแข็งแรงกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัว กล้ามเนื้อขา กล้ามเนื้อแขนที่ใช้เหวี่ยงแขนขณะวิ่ง ไปด้วยพร้อม ๆ กัน ก็จะช่วยเสริมให้เพื่อนๆมีความเร็วมากขึ้นได้ค่ะ

สุดท้ายนี้ มีข่าวดีมาบอกนะคะ ว่ากำแพงนี้จะไม่มีวันหายไปค่ะ ร่างกายคนเราเป็นสิ่งมหัศจรรย์มาก เมื่อเพื่อนๆฝึกให้มันชินกับสถานการณ์ใด มันจะปรับตัวได้เสมอ และเพื่อนๆจะเจอกำแพงจนชินไปเลย ขึ้นอยู่กับว่าเพื่อนๆอยากผลักมันต่อไปไหม บางคนเลิกผลักกลางทาง บางคนมีวินัยผลักไปเรื่อยๆจนเป็นเซียน ไม่ต้องดูจุดสิ้นสุดที่ข้างหน้าวันใดวันหนึ่ง เพราะร่างกายเราปรับตัวได้ไม่มีที่สิ้นสุด แต่ให้เพื่อนๆมองย้อนกลับไปเปรียบเทียบจากจุดเริ่มต้นที่เพื่อนๆเริ่มรู้จักกำแพงนี้ครั้งแรก เพื่อนๆจะประหลาดใจสุดๆที่เห็นว่า ร่างกายของเพื่อนๆนี่ มันก็มีดีเหมือนกันนะ มันแข็งแรงมาได้ขนาดนี้เชียวเหรอ เป็นกำลังใจให้ทุกคนนะคะ

ขอให้มีพลังใจที่จะดันกำแพงกันต่อไปเรื่อยๆค่ะ

ปล. ในรูปนี้ ชนกำแพงครั้งแรกค่ะ หน้าตาเลยเหน็ดเหนื่อยมากๆค่ะ

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

%d bloggers like this: