Explore the Knowledge for Runner
คนที่รักอุปกรณ์เสริมจุกจิกมักเชื่อว่าเทคโนโลยีเป็นกุญแจสำคัญสู่การวิ่งที่ดีขึ้น ซึ่งเพื่อนๆจะต้องตัดสินใจเอาเองว่า จริงๆแล้วเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่ค่ะ เราจะมาดูอุปกรณ์ที่ได้รับความนิยมและมีเทคโนโลยีที่พัฒนาไปไม่เร็วสักเท่าไหร่สัก 4 อย่างกันนะคะ อุปกรณ์เหล่านั้นคือ
1. นาฬิกาจีพีเอส
2. เครื่องวัดชีพจรการเต้นของหัวใจ
3. เครื่องเล่นเอ็มพีสาม
4. เข็มขัดใส่ขวดน้ำ
ในตอนนี้เรามาดูรายละเอียดของอุปกรณ์ 2 ข้อแรกกันก่อนนะคะ
นาฬิกาจีพีเอส
มีนักวิ่งคนไหนบ้างคะที่ไม่อยากรู้ว่าพวกเขาวิ่งมาได้ไกลเท่าไหร่แล้ว ระยะวิ่งนั้นมีการคำนวณอย่างแม่นยำแล้ว เขาใช้ความเร็วในการวิ่งกี่นาทีต่อกิโลเมตร ความเร็วของการวิ่งเฉลี่ยทั้งหมดเป็นเท่าไร และเบิร์นไปได้กี่แคลอรี่แล้วล่ะคะ นักวิ่งเกือบทุกคนก็คงอยากจะทราบใช่ไหมล่ะคะ ในเมื่อข้อมูลทั้งหมดนี้สามารถเอามาวางแผนการซ้อมวิ่ง และช่วยกระตุ้นความเร็วของการวิ่งให้ดีขึ้นได้
นาฬิกาจีพีเอสจึงเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ได้รับความนิยมจริงๆค่ะ เพราะมันสามารถแปลงการวิ่งแต่ละครั้งเป็นข้อมูลชิ้นใหญ่ที่ใช้ดูความก้าวหน้าในการวิ่งได้ ซึ่งคุณสมบัตินี้เป็นคุณสมบัติสำคัญที่นักวิ่งสามารถใช้เป็นข้อมูลในการพิจารณาว่า การวิ่งนั้นได้พัฒนาดีขึ้น หรือแย่ลง และหาข้อดีที่ต้องปฏิบัติต่อ หรือข้อเสียที่ต้องกำจัดทิ้งไป เรียกว่าเป็นอุปกรณ์ตอบสนองย้อนกลับไปให้เพื่อนๆได้รับทราบความเป็นไปของร่างกายแต่คุณสมบัตินี้อาจเป็นอันตรายสำหรับนักวิ่งที่ไม่ใช้มันเพื่อการปรับปรุงการวิ่ง แต่ใช้เหมือนกับว่ามันเป็นวีดีโอเกมที่จะต้องเอาชนะคะแนนของการวิ่งครั้งก่อนหน้านี้ให้ได้ค่ะ
ดังนั้น หากคุณสามารถเป็นเจ้าของนาฬิกาจีพีเอสนี้ได้ และใช้มันอย่างถูกต้องแล้วล่ะก็ มันก็ถือว่าเป็นอุปกรณ์ที่สามารถทำให้คุณประหลาดใจได้เหมือนกันค่ะ
นาฬิกาจีพีเอสนั้นมีหลากหลายราคาและคุณสมบัตินะคะ มีตั้งแต่ราคาพันต้นๆจนถึงหลักหมื่นได้เลย ยิ่งถ้ามีคุณสมบัติที่มากขึ้น ราคาก็จะแพงขึ้นค่ะ ดังนั้นเพื่อนๆควรเลือกคุณสมบัติของนาฬิกาจีพีเอสให้เหมาะกับลักษณะการฝึกซ้อมของเพื่อนๆค่ะ
คุณสมบัติดังกล่าว อาจจะมีแค่จับระยะทาง คำนวณเวลา และบอกออกมาเป็นความเร็ว มากกว่านั้นก็สามารถจับชีพจรผ่านทางสายคาดอก หรือรุ่นที่แพงกว่านั้นจะสามารถจับชีพจรได้ที่ข้อมือ โดยไม่ต้องใช้สายคาดอก มากไปกว่านั้น รุ่นท๊อปจะสามารถบอกถึงโซนการเต้นของหัวใจ เตือนเพื่อนๆได้ว่าเกินกว่าโซนที่กำหนดแล้ว หรือต่ำกว่าที่กำหนด และคุณยังสามารถใส่โปรแกรมการซ้อมเข้าไปได้ เมื่อถึงเวลาเปลี่ยนความเร็ว มันก็สามารถสั่นเตือน หรือร้องบอกเพื่อนๆได้ค่ะ สรุปง่ายๆว่า ยิ่งเพื่อนๆเป็นนักวิ่งที่จริงจังมากเท่าไหร่ เพื่อนๆก็อาจจะต้องการใช้คุณสมบัติที่สูงขึ้นไปก็ได้ค่ะ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ได้บอกนะคะว่าเพื่อนๆจะต้องมีนาฬิกาจีพีเอส สิ่งสำคัญคือ เพื่อนๆต้องรู้ความหนักของการออกกำลังกายด้วยตัวเอง โดยสังเกตจากลมหายใจ ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดค่ะ ถ้าความหนักปานกลาง เพื่อนๆจะยังสามารถคุยกับเพื่อนร่วมวิ่งรู้เรื่องนะคะ
เครื่องวัดอัตราการเต้นของหัวใจ
เครื่องวัดอัตราการเต้นของหัวใจช่วยให้คุณทราบความหนักของการออกกำลังกายผ่านทางอัตราการเต้นของหัวใจ เมื่อเพื่อนๆสามารถออกกำลังไปถึงโซนฝึกซ้อมได้แล้ว เครื่องนี้จะบอกว่าเมื่อไหร่ที่เพื่อนๆกำลังฝึกซ้อมแบบใช้ออกซิเจน หรือที่ระดับขอบปริ่มการไม่ใช้ออกซิเจน หรืออยู่ในช่วงไม่ใช้ออกซิเจนแล้ว ถ้าเพื่อนๆเป็นนักวิ่งมืออาชีพที่กำลังทำการทดสอบความหนักในการวิ่ง เครื่องนี้จะช่วยให้คุณยังคงความหนักของการออกกำลังในโซนฝึกซ้อมได้ อย่างไรก็ตาม สำหรับนักวิ่งที่เพิ่งเริ่มต้นหรือมืออาชีพน้อยลงมาหน่อย เครื่องนี้อาจจะมากเกินไปโดยไม่จำเป็น จริงๆแล้วนักวิ่งส่วนใหญ่ไม่ต้องการใช้มันหรอกนะคะ มันเป็นเครื่องมือที่ดีมากก็จริง แต่นักวิ่งส่วนใหญ่ที่ยังไม่ได้ศึกษาจริงจัง อาจจะพบกับความยุ่งยากของข้อมูลมากกว่าจะได้ประโยชน์จากมัน เพราะไม่รู้ว่าจะวิเคราะห์ข้อมูลเหล่านั้นอย่างไรค่ะ
เอาล่ะค่ะ จบไปแล้วกับอุปกรณ์จุกจิก 2 อย่างนะคะ ในตอนหน้า ไปคุยถึงอุปกรณ์จุกจิกอีก 2 อย่างนะคะ คือ เครื่องเล่นเอ็มพีสาม และเข็มขัดใส่ขวดน้ำค่ะ
เครื่องเล่นเอ็มพีสาม
เท่าที่ผ่านมา ยังไม่มีอุปกรณ์ใดสักอุปกรณ์เดียวที่แบ่งแยกสังคมการวิ่งได้เท่ากับเครื่องเล่นเอ็มพีสามที่ถูกนำมาใช้ในขณะวิ่งค่ะ
ผู้สนับสนุนการใช้เสียงเพลงกล่าวว่า เสียงเพลงช่วยสร้างแรงจูงใจในการวิ่ง ลดการรับรู้อาการล้า และสู้กับความเบื่อหน่ายได้ ในขณะที่กลุ่มตรงข้ามเชื่อว่ามันทำลายความเร็ว และการรับรู้ตอบกลับทางร่างกายค่ะ ทำให้นักวิ่งไม่สนใจสภาพแวดล้อมภายนอกขณะวิ่ง รวมถึงไม่สนใจนักวิ่งคนอื่นๆด้วยค่ะ
ถ้าเพื่อนๆอยู่ข้างฝ่ายชอบดนตรี ให้มองหาเครื่องเล่นเอ็มพีสามที่เล็กเพียงพอที่จะติดเอาไว้ที่เสื้อผ้า หรือเก็บไว้ในกระเป๋าเก็บหรือสายรัดแขนได้นะคะ และควรมีคุณสมบัติกันเหงื่อ และหูฟังควรกันน้ำได้ด้วยค่ะ
ในปัจจุบัน นักวิ่งหลายคน พกพามือถือขณะวิ่ง ซึ่งนอกจากจะใช้แอปพลิเคชั่นในการจับระยะทาง และคำนวณความเร็วของการวิ่งได้แล้ว ยังสามารถเล่นไฟล์เพลงเอ็มพีสามได้ด้วย คำแนะนำคือ ให้เก็บมือถือไว้ในซองพกพาที่กันน้ำได้ เพื่อนๆจะติดมันที่ต้นแขน หรือเอวก็ได้ หากใช้หูฟังที่มีสาย ควรเก็บสายให้เรียบร้อยขณะวิ่ง เพื่อความคล่องตัว และป้องกันไม่ให้แขนเหวี่ยงไปโดน และกระชากมันหลุดจากหู หรือตัวเครื่องค่ะ นอกจากหูฟังแบบมีสายแล้ว ยังมีหูฟังแบบบลูทูธด้วยนะคะ เป็นระบบไร้สายที่ดีมากค่ะ มีความคล่องตัวสูง แต่ควรเลือกให้เข้ากับรูหูของเรา ใส่วิ่งแล้วไม่หลุดง่าย กระเด็นกระดอนนะคะ ตอนไปเลือกที่ร้าน ก็ลองใส่ แล้ววิ่งๆกระโดดๆดูค่ะว่าหลุดหรือไม่ค่ะ
ส่วนตัวเราเคยชอบฟังเพลงขณะวิ่ง โดยเฉพาะเพลงที่มีจังหวะเร็ว เพราะช่วยกระตุ้นการเต้นของหัวใจได้ดี ทำให้เราลืมอาการล้าของขาเมื่อต้องวิ่งไกลกว่าเดิม แต่ข้อเสียคือ ไม่ได้ยินสิ่งแวดล้อมภายนอก จนอาจทำให้วิ่งชนนักวิ่งคนอื่นได้ ไม่ได้ยินเสียงรถที่แล่นเข้ามาใกล้ และที่แย่ที่สุดคือ เวลาที่ต้องมีสมาธิกับโปรแกรมการวิ่งที่ควบคุมเรื่องความเร็ว เช่น ต้องเร่งความเร็วอย่างกะทันหัน จะรู้สึกได้ว่าเสียงเพลงค่อนข้างรบกวนสมาธิ และการรับรู้การเคลื่อนไหวแขนขานั้นน้อยลง สุดท้ายเลยเลิกฟังเพลงขณะวิ่งค่ะ ใช้สมาธิสังเกตลมหายใจ และการเคลื่อนไหวแขนขาไปดีกว่าค่ะ อันนี้ก็เป็นความเห็นส่วนตัวนะคะ เราว่าแล้วแต่ชอบดีกว่าค่ะ ถ้าฟังแล้ววิ่งได้ดีขึ้น ก็ฟังไปเถอะค่ะ
เข็มขัดใส่ขวดน้ำ
อุปกรณ์นี้ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีใดๆนะคะ หรือถ้าใช้ก็คงน้อยมาก เข็มขัดใส่ขวดน้ำควรมาพร้อมความสะดวก เทคโนโลยีจะถูกใช้บ้างก็มักจะใช้เกี่ยวกับเส้นใยของสายรัดค่ะ ว่าต้องกระชับ สามารถรัดเข้ากับสะโพกได้แล้วและไม่ถ่วงน้ำหนักและกระเด้งขึ้นลงขณะวิ่ง สามารถแนบติดกับสะโพกได้เลย เหมือนเป็นอวัยวะหนึ่งของร่างกายเลยค่ะ ควรเลือกเข็มขัดที่จะไม่ไหลลื่นขึ้นด้านบน และกดถูกหน้าท้องของเพื่อนๆ ซึ่งอาจทำให้นักวิ่งบางคนรู้สึกคลื่นไส้ได้ค่ะ
เพื่อนๆควรเลือกเข็มขัดที่ใส่ขวดน้ำแล้ว สามารถหยิบออกมาดื่มได้ง่ายแม้ในขณะวิ่ง ในท้องตลาดมีทั้งที่ใส่ขวดน้ำทางด้านข้างสองข้าง หรือทางด้านหลัง อันนี้ก็แล้วแต่ความถนัดของแต่ละคนค่ะ แต่ที่สำคัญไปกว่านั้น ควรเลือกขนาดของขวดน้ำให้เหมาะกับระยะการวิ่ง และความต้องการน้ำขณะวิ่งให้เหมาะกับเรานะคะ เช่น บางคนวิ่ง 10 กิโลเมตร ดื่มน้ำเพียง 400 มิลลิลิตร ในขณะที่บางคนดื่ม 800 มิลลิลิตร อันนี้ก็เลือกกันให้ดีนะคะ
และสุดท้ายคือตำแหน่งของการคาดเข็มขัด ควรเป็นบริเวณสะโพกนะคะ คืออยู่ในระดับที่กว้างที่สุดของสะโพกนั่นแหละค่ะ เพราะเป็นตำแหน่งที่มีการบิดน้อยที่สุดขณะวิ่ง และช่วยถ่ายเทน้ำหนักของเข็มขัดและน้ำลงสู่ขาได้ดีค่ะ เห็นบางคนคาดที่เอว นอกจากรัดแน่นจนบีบหน้าท้องแล้ว น้ำหนักของน้ำที่มากขึ้น จะไปเพิ่มภาระของกล้ามเนื้อหลังที่ถูกใช้มากอยู่แล้วขณะวิ่งให้มากขึ้นโดยไม่จำเป็นค่ะ เป็นการเปลืองพลังงานไปโดยเปล่าประโยชน์ และอาจทำให้กล้ามเนื้อหลังทำงานมากจนบาดเจ็บได้โดยไม่จำเป็นค่ะ
เข็มขัดใส่ขวดน้ำบางรุ่น จะมีช่องใส่มือถือ หรือของจุกจิก เช่น กุญแจ ธนบัตร บัตรเครดิต รวมทั้งมีสายไว้ติด BIB หรือแถบหมายเลขนักวิ่งด้วยนะคะ เมื่อเลือกซื้อแล้ว ควรพิจารณาคุณสมบัติรุ่นที่เหมาะกับพฤติกรรมการวิ่งของเรามากที่สุดนะคะ
ขอให้เพื่อนนักวิ่งมีอุปกรณ์จุกจิกที่เหมาะกับนิสัยการวิ่งของตัวเอง และใช้ได้คุ้มค่ากันนะคะ
Recent Comments