Explore the Knowledge for Runner
เรามารู้จักคำศัพท์นักวิ่งกันเถอะค่ะ
เริ่มต้นด้วยการทำแบบทดสอบกันค่ะ จากคำพูดต่อไปนี้
“ฉันคิดว่าฉันควรออกกำลังกล้ามเนื้อลำตัวเพื่อเพิ่มวีโอทูแมกซ์”
คำตอบใดต่อไปนี้เป็นการตอบคำพูดดังกล่าวที่ถูกต้อง
ก. อะไรคือวีโอทูแมกซ์เหรอ
ข. ฟังดูดีนะ
ค. ฉันไม่คิดว่าวีโอทูแมกซ์เป็นตัวบอกถึงสมรรถนะที่สำคัญของการวิ่งมากเท่ากับพลังงานที่ใช้ในการวิ่งในความหนักเกือบสูงสุด
คำตอบที่ถูกต้องคือข้อ ค.
คำถามนี้เป็นการทดสอบความรู้ในคำศัพท์ 2 คำ และปฏิเสธว่าการออกกำลังกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัว ในความเป็นจริงแล้วไม่ได้ผลในการเพิ่มวีโอทูแมกซ์ค่ะ
คำตอบข้อ ก. ได้คะแนนความซื่อสัตย์ไปเลยค่า
คำตอบข้อ ข. เป็นคำสารภาพว่าเพื่อนๆไม่รู้ภาษาเฉพาะของนักวิ่ง และอาจจบลงด้วยการถูกกันออกจากกลุ่มสนทนาเกี่ยวกับการวิ่งได้ค่ะ
คำศัพท์เฉพาะของนักวิ่งไม่ใช่แค่คำศัพท์ในจินตนาการแบบฉาบฉวยนะคะ แต่มันเป็นคำศัพท์ทางการกีฬาเลยทีเดียว ถ้าคุณต้องการเข้าใจกีฬา คุณจำเป็นต้องพูดภาษาของกีฬานั้นค่ะ
คำศัพท์นักวิ่งคืออะไร
คำศัพท์นักวิ่งประกอบด้วย คำศัพท์ วลี และคำศัพท์เฉพาะที่ไม่เหมือนใคร ที่เพื่อนๆจะพูดและได้ยินเมื่อสนทนาเกี่ยวกับกีฬาการวิ่ง เนื่องจากการรวบรวมคำศัพท์นักวิ่งมารวมไว้ทุกคำจะใช้พื้นที่หน้ากระดาษจำนวนมาก เราจึงขอเริ่มต้นการศึกษาของเพื่อนๆด้วยการก้าวกระโดดไปศึกษาคำศัพท์ที่ใช้บ่อยที่สุด 12 คำค่ะ
คำศัพท์เหล่านั้นประกอบไปด้วย
1. แอโรบิค (Aerobic)
2. แอนแอโรบิค (Anaerobic)
3. วีโอทูแมกซ์ (VO2max)
4. การวิ่งแบบประหยัดพลังงาน (Running economy)
5. กรดแลคติค (Lactic acid)
6. เรพเพททิชั่น/อินเทอร์วอล (Repetition/Intervals)
7. สปลิท (Split)
8. เทมโป (Tempo)
9. ฟาร์ทเลต (Fartlek)
10. เอจ เกรดดิ้ง (Age grading)
11. ไมโตคอนเดรีย (Mitochondria)
12. โพพริโอเซปชั่น (Proprioception)
และคำศัพท์นักวิ่งโบนัส: อิแลสติก คอยล์ (elastic recoil)
เอาล่ะค่ะ เรามาเริ่มต้นเรียนรู้คำศัพท์นักวิ่ง 3 คำแรกไปพร้อมๆกันนะคะ
1. แอโรบิค (Aerobic)
แอโรบิคในที่นี้ไม่ใช่การเต้นแอโรบิคแบบที่คนไทยเรามักเข้าใจผิดกันนะคะ การออกกำลังกายแบบแอโรบิคคือการออกกำลังที่ร่างกายใช้แหล่งพลังงานที่สร้างมาจากออกซิเจนเป็นหลักค่ะ ซึ่งมักจะต้องเป็นการออกกำลังที่เคลื่อนไหวซ้ำๆเป็นระยะเวลาหนึ่งค่ะ เช่น การเต้นเข้าจังหวะเพลงในแบบที่คนไทยเหมาเรียกว่าแอโรบิค การวิ่ง การขี่จักรยาน การว่ายน้ำ เป็นต้น
ดังนั้น การวิ่งแบบแอโรบิคจึงหมายความว่า คุณกำลังวิ่งที่ระดับความพยายาม (หรือความเร็ว) ที่ใช้พลังงานเกือบทั้งหมดจากออกซิเจนค่ะ พลังงานแบบใช้ออกซิเจนถูกสร้างขึ้นระหว่างเซลล์ และแน่นอนค่ะว่าไม่สามารถสร้างขึ้นได้โดยปราศจากออกซิเจน และออกซิเจนนั้นก็มาจากลมหายใจที่เราหายใจเข้าไปนั่นเองค่ะ การสร้างพลังงานแบบใช้ออกซิเจนไม่ใช่เกิดขึ้นแค่ตอนออกกำลังกายนะคะแต่ร่างกายเพื่อนๆมีการสร้างพลังงานแบบใช้ออกซิเจนตลอดเวลาค่ะ แม้ขณะที่เพื่อนๆนั่งเฉยๆ พลังงานเกือบทั้งหมดที่เพื่อนๆใช้นั้นก็ถูกสร้างขึ้นมาจากกระบวนการเดียวกันกับการสร้างจากออกซิเจนค่ะ
โดยสรุปแล้ว ตอนที่เพื่อนๆวิ่งมาราธอน พลังงาน 99% ที่ใช้นั้นถูกสร้างจากแบบใช้ออกซิเจน แม้แต่การวิ่งระยะสั้น (Sprint) อย่างการวิ่งแข่ง 100 เมตรก็ยังคงใช้พลังงานแบบใช้ออกซิเจนได้ถึง 20% ค่ะ พูดอีกนัยหนึ่งก็คือ ร่างกายเราใช้ออกซิเจนเป็นวัตถุดิบหลักในการสร้างพลังงานที่ใช้ในชีวิตประจำวันและการออกกำลังกายค่ะ
2. แอนแอโรบิค (Anaerobic)
แอนแอโรบิคคือ พลังงานที่ถูกสร้างขึ้นระหว่างเซลล์โดยไม่ต้องใช้ออกซิเจนเป็นวัตถุดิบ นี่ไม่ได้หมายความว่าไม่มีออกซิเจนในเซลล์เพื่อนๆเลยนะคะ มีออกซิเจนในเซลล์เสมอล่ะค่ะ แต่พลังงานแบบไม่ใช้ออกซิเจนนี้ถูกสร้างขึ้นเมื่อร่างกายเพื่อนๆต้องการพลังงานที่รวดเร็วกว่าระบบที่ใช้ออกซิเจนมาสร้างพลังงาน ขึ้นอยู่กับว่าร่างกายต้องการใช้พลังงานจากระบบนี้นานเท่าไรค่ะ
ระบบพลังงานแบบไม่ใช้ออกซิเจนนี้สามารถสร้างพลังงานได้เร็วกว่าระบบใช้ออกซิเจนได้มากถึง 100 – 200 เท่าเลยล่ะค่ะ ปัญหาของระบบที่ไม่ใช้ออกซิเจนคือ มีช่วงอายุสั้น พลังงานจะหมดอย่างรวดเร็วหลังจากผ่านไป 1 นาทีหากใช้แรงสูงสุด พลังงานชนิดนี้จะสมบูรณ์แบบมากสำหรับกิจกรรมประเภทที่ต้องใช้แรงเยอะในช่วงเวลาสั้นๆ เช่น กระโดดสูง ยกน้ำหนัก หรือการวิ่งระยะสั้น แต่ไม่เหมาะแน่ๆสำหรับกีฬาที่ใช้เวลานาน เช่น การวิ่งระยะไกล ฟุตบอล ขี่จักรยาน และว่ายน้ำค่ะ
3. วีโอทูแมกซ์ (VO2max)
วี มาจากคำว่า Volume ซึ่งแปลว่าปริมาตร ส่วนโอทูก็มาจาก O2 จริงๆแล้ว 2 ต้องเป็นตัวห้อยอยู่ข้างล่างนะคะ ซึ่งก็คือออกซิเจนนั่นเอง ส่วนคำว่าแมกซ์มาจาก Maximum ซึ่งแปลว่าสูงสุด
ดังนั้นวีโอทูแมกซ์ของเพื่อนๆก็คือปริมาณออกซิเจนสูงสุดที่ร่างกาย “บริโภค” ในหนึ่งนาทีค่ะ หรือในอีกมุมหนึ่ง มันคือปริมาณออกซิเจนสูงสุดที่ระบบการสร้างออกซิเจนของร่างกายเพื่อนๆสามารถใช้เพื่อสร้างพลังงานได้ค่ะออกซิเจนในกระแสเลือดตัวใดที่ไม่ได้ถูกใช้ในการสร้างพลังงานจะไม่ถูกนำมาใช้คำนวณหาค่าวีโอทูแมกซ์นะคะ
ค่าวีโอทูแมกซ์ของเพื่อนๆจะดีขึ้นได้ก็ต่อเมื่อพัฒนาความสามารถของร่างกายในการนำส่งออกซิเจนได้มากขึ้น ซึ่งระบบหัวใจและหลอดเลือดของเพื่อนๆ จะรับหน้าที่หลักนั้นเอง และร่างกายเพื่อนๆสามารถใช้ออกซิเจนเหล่านั้นได้ในระดับเซลล์มากขึ้นด้วย ยิ่งค่าวีโอทูแมกซ์สูงมากขึ้นเท่าไร พลังงานจากการใช้ออกซิเจนที่เพื่อนๆสร้างขึ้นมาได้จะยิ่งมากขึ้นด้วยค่ะ
4. ค่าการวิ่งแบบประหยัดพลังงาน (Running economy)
คำว่า “ค่าการวิ่งแบบประหยัดพลังงาน” นี้ ขอแปลตรงตัวนะคะ จริงๆแล้วยังไม่มีคำเรียกภาษาไทยอย่างเป็นทางการค่ะ
ค่าการวิ่งแบบประหยัดพลังงานนี้เป็นการวัดประสิทธิภาพการใช้ออกซิเจนของเพื่อนๆที่ความเร็วในระดับที่กำหนด ถ้านักวิ่งคนหนึ่งต้องการใช้ออกซิเจนน้อยกว่านักวิ่งอีกคนหนึ่งที่ความเร็วเท่ากัน เราสามารถกล่าวได้ว่านักวิ่งคนแรกวิ่งประหยัดพลังงานมากกว่านักวิ่งคนที่สอง เปรียบเหมือนการดูปริมาณน้ำมันที่รถใช้วิ่งใน 1 ไมล์ ถ้าใช้น้ำมันน้อยกว่าที่ระยะวิ่งเท่ากัน แสดงว่ารถคันนั้นประหยัดพลังงานมากกว่านะคะ
อย่างไรก็ตาม ยังมีการถกเถียงกันในสังคมนักวิ่งว่าอะไรที่สำคัญกว่าในการวัดสมรรถภาพการวิ่ง ระหว่างค่าวีโอทูแมกซ์ และค่าการวิ่งแบบประหยัดพลังงานนี้ คำตอบคือทั้งสองค่าต่างก็มีความสำคัญทั้งคู่ จึงใช้ได้ทั้งคู่ค่ะ
5. กรดแลคติค (Lactic acid)
กรดแลคติคถูกมองว่าเป็นปิศาจร้ายของนักวิ่งมานานกว่า 100 ปีแล้ว ความคิดเมื่อนานมาแล้วกล่าวว่า กรดแลคติคคือของเสียที่ถูกปล่อยออกมาจากกระบวนการสร้างพลังงานแบบไม่ใช้ออกซิเจน และถูกใส่ร้ายว่าทำให้กล้ามเนื้อล้าและปวดเมื่อยเมื่อวิ่งหนักๆค่ะ
อย่างไรก็ตามในปัจจุบันนี้ มีหลักฐานยืนยันแล้วว่ากรดแลคติคไม่ได้ถูกสร้างขึ้นภายในกล้ามเนื้อ แต่มันถูกสร้างขึ้นจากสาร 2 ตัวคือ แลคเตท กับ ไฮโดรเจนอิออนค่ะ
แลคเตทเป็นเชื้อเพลิงที่กล้ามเนื้อใช้ในการสร้างพลังงานแบบใช้ออกซิเจน ส่วนไฮโดรเจนอิออนต่างหากล่ะคะ ที่ทำให้เกิดภาวะความเป็นกรดและเชื่อว่าจริงๆแล้วเป็นตัวทำให้เกิดกล้ามเนื้อล้า แต่ก็ยังไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ทำให้กล้ามเนื้อล้าในการวิ่งแข่งระยะยาวค่ะ
6. เรพเพททิชั่น/อินเทอร์วอล (Repetition/Intervals)
นักวิ่งมักใช้คำสองคำนี้แทนกันเสมอค่ะ แม้คนที่ชอบความสมบูรณ์แบบจะโต้แย้งว่าสองคำนี้มีความหมายที่แตกต่างกันนะ สำหรับนักวิ่งส่วนใหญ่ทั้งการฝึกแบบเรพเพททิชั่นและอินเทอร์วอลเป็นการฝึกวิ่งแบบเป็นช่วงสั้นๆซ้ำๆหลายๆรอบตามความเร็วที่กำหนด เช่น วิ่ง 200 เมตร 8 รอบ หรือ วิ่ง 1 ไมล์ 3 รอบ โดยสลับกับช่วงพักซึ่งเพื่อนๆอาจจะเดิน วิ่งเหยาะๆ หรือหยุดยืนเลยก็ได้ค่ะ
ในทางเทคนิคแล้ว การวิ่งแบบเรพเพททิชั่นก็คือช่วงการวิ่งแบบหนัก และอินเทอร์วอลเป็นช่วงของการพักหลังการวิ่งหนักค่ะ การฝึกแบบอินเทอร์วอลมีจุดกำเนิดตั้งแต่ปี คศ.1930 โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่ม Stroke volume (ปริมาตรเลือดที่หัวใจสามารถปั๊มออกไปได้ในการบีบตัวแต่ละครั้ง) ให้มากขึ้นค่ะ
7. สปลิท (Split)
คำว่าสปลิทสามารถมีได้สองความหมายที่แตกต่างกันนะคะ
ความหมายแรก คือเวลาที่บันทึกได้จากจุดเริ่มต้นจนถึงเส้นชัยในการแข่งขัน ซึ่งมักจะเป็นช่วงเวลาที่เท่ากัน
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเพื่อนๆกำลังวิ่ง 5 กิโลเมตร เพื่อนๆอาจอยากรู้เวลาที่ใช้ไปในการวิ่งไมล์แรก ซึ่งจะเป็น Mile split ของเพื่อนๆ ส่วนการวิ่งแบบ Even split หมายความว่า เพื่อนๆคงความเร็วเดิมในแต่ละช่วงที่แยกระยะทางออกจากกัน และคำว่า Negative split หมายความว่าเพื่อนๆเร่งความเร็วในช่วงระยะสุดท้ายของการแข่งขันค่ะ
ความหมายที่สองของคำว่าสปลิทคือการที่นักวิ่งแบ่งการฝึกซ้อมออกเป็นส่วนๆ ในการวิ่งระยะไกลค่ะ เพื่อนๆอาจต้องการตรวจสอบช่วงสปลิทของเพื่อนๆในทุกกิโลเมตรที่วิ่งไปโดยใช้นาฬิกาจีพีเอสจับเวลาและระยะทางก็ได้ค่ะ และบันทึกสปลิทเอาไว้ในการวิ่งซ้ำแต่ละช่วงด้วยเพื่อทำการเปรียบเทียบกันค่ะ
นักวิ่งมักจะตั้งเป้าหมายของการสปลิทเฉพาะระหว่างที่มีการฝึกซ้อมเป็นช่วงๆช้ำๆ เพื่อเป็นการเตรียมตัวในการแข่งขันที่กำลังจะมาถึง ซึ่งพวกเขาคาดหวังว่าจะสามารถทำเวลาได้เท่าเดิมในระยะทางแข่งขันเต็มระยะค่ะ
8. เทมโป (Tempo)
การวิ่งแบบเทมโปอาจเป็นคำที่นักวิ่งเข้าใจผิดมากที่สุดก็ว่าได้ค่ะ การวิ่งแบบเทมโปคือการวิ่งด้วยความพยายามที่คงที่โดยใช้เวลาตั้งแต่ 10 – 40 นาที (บางครั้งอาจนานกว่านี้สำหรับนักวิ่งระยะไกลที่พัฒนาแล้ว) ด้วยความเร็วที่เพื่อนๆสามารถคงเอาไว้ได้อย่างน้อย 1 ชั่วโมงค่ะ
โค้ชแจ็ค แดเนี่ยล (Jack Danial) ได้อธิบายความพยายามระดับเทมโปว่าเป็นความรู้สึก “หนักแบบสบายๆ” ไว้ในหนังสือที่ได้รับความนิยมของเขา ชื่อว่า สูตรการวิ่งของแดเนี่ยล (Daniel’s Running Formula)
เพราะว่าการวิ่งแบบเทมโปเป็นการฝึกที่กระตุ้นการปรับตัวที่มีประโยชน์สำหรับทั้งระบบสร้างพลังงานแบบใช้ออกซิเจน และการนำเอาของเสียที่เป็นอันตรายซึ่งได้มาจากระบบสร้างพลังงานแบบไม่ใช้ออกซิเจนออกจากเซลล์ การวิ่งแบบเทมโปเป็นการซ้อมที่นักวิ่งระยะไกลโปรดปราน โชคร้ายที่นักวิ่งหลายๆคนใช้การวิ่งแบบเทมโปเป็นการวิ่งทดสอบเวลาของตนเอง (ทดลองการแข่งขัน) ซึ่งเป็นการทำลายประโยชน์ที่ควรได้รับในขณะที่ทำให้ตนเองหมดเรี่ยวแรงในการฝึกซ้อมครั้งต่อไปค่ะ
9. ฟาร์ทเลต (Fartlek)
ฟาร์ทเลตเป็นภาษาสวีเดน หมายความว่า การเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว (Speed play) หากพูดถึงเรื่องการซ้อม ก็คือการผสมความเร็วที่หลากหลายอย่างไม่มีแบบแผน เป้าหมายเพื่อให้ได้ผลทั้งระบบใช้และไม่ใช้ออกซิเจนค่ะ
วิธีการฝึกแบบฟาร์ทเลตคือหลังจากเริ่มต้นด้วยการอบอุ่นร่างกายแล้ว นักวิ่งจะวิ่งอย่างเร็วสลับกับช่วงพัก การวิ่งอย่างเร็วอาจจะใช้เวลาตั้งแต่วินาทีเป็นนาที การวิ่งอย่างเร็วประกอบด้วยการวิ่งระยะยาวซ้ำๆ การวิ่งเร่งระยะสั้น และการวิ่งขึ้นลงเนิน ทั้งหมดจะต้องพักฟื้นฟูร่างกายด้วยการวิ่งช้าๆค่ะ
โค้ชโจ รูบิโอ (Joe Rubio) แห่ง ASICS แนะนำให้นักวิ่งสลับการวิ่งความเร่งและช่วงพักโดยดูระยะระหว่างเสาโทรศัพท์ค่ะ
นักวิ่งอื่นๆอาจชอบกำหนดเวลาในการวิ่งซ้ำบนทางวิ่งที่แตกต่างกันไป ซึ่งทางวิ่งนั้นประกอบด้วย ทางขึ้นเนิน ทางดิน พื้นหญ้า และ/หรือ ถนน สลับกับการพักที่ใช้แค่ความรู้สึกว่าเบาลงเท่านั้นค่ะ
10. เอจ เกรดดิ้ง (Age grading)
ถ้าเพื่อนๆเป็นนักวิ่งที่อายุมากกว่า 40 คงต้องการรู้ว่าระดับของอายุสัมพันธ์กับสมรรถภาพการวิ่งอย่างไรใช่ไหมคะ
สถิติเวลาการแข่งขันวิ่งทางไกลระดับโลกได้ถูกรวบรวมเอาไว้ และนำมาทำเป็นกราฟโค้ง เพื่อหาค่าเฉลี่ยในแต่ละช่วงอายุเอาไว้เป็นมาตรฐานความเร็วสูงสุดที่ควรทำได้ในช่วงอายุนั้น และถือว่าเวลานั้นเป็น 100% เมื่อเพื่อนๆวิ่งที่ระยะทางหนึ่ง และนำเวลาที่วิ่งได้ไปเปรียบเทียบกับเวลามาตรฐานนี้ในช่วงอายุของเพื่อนๆ เพื่อนๆก็จะได้ทราบเปอร์เซ็นต์สมรรถภาพการวิ่งของคุณค่ะ
ยกตัวอย่างเช่น ผู้ชายอายุ 40 ปี สามารถวิ่ง 5 กิโลเมตร ในเวลา 16 นาที จะได้คะแนนเป็น 85% ของระดับช่วงอายุนั้น แต่ผู้ชายอายุ 50 ปี ที่สามารถวิ่งได้ด้วยเวลาที่เท่ากัน จะได้ระดับคะแนนเป็น 92%
และผู้หญิงอายุ 50 ปีจะต้องวิ่ง 18.10 นาที เพื่อให้ได้คะแนน 92% เท่ากันค่ะ
ในการแบ่งระดับคะแนนอายุเช่นนี้ ตำแหน่งที่เข้าเส้นชัยของเพื่อนๆจะถูกพิจารณาโดยช่วงเปอร์เซนต์อายุของเพื่อนๆเอง ด้วยวิธีการนี้ทำให้นักวิ่งที่มีช่วงอายุที่ต่างกันสามารถแข่งขันระหว่างกันได้ค่ะ
เพื่อนๆสามารถเข้าไปคำนวณสมรรถภาพการวิ่งของเพื่อนๆเองได้ที่ http://www.runnersworld.com/pace-calculators/age-grade-calculator
11. ไมโตคอนเดรีย (Mitochondria)
ถ้ามีคำศัพท์ทางวิทยาศาสตร์ใดที่เพื่อนๆจะต้องรู้ นั่นคือคำนี้ค่ะ ไมโตคอนเดรีย
ไมโตคอนเดรียเป็นโครงสร้างหนึ่งที่มองเห็นได้แค่จากทางกล้องจุลทรรศ์เท่านั้นนะคะ และอยู่ในเซลล์ ทำหน้าที่สร้างพลังงานที่ได้จากการใช้ออกซิเจนทั้งหมดของร่างกาย ซึ่งเป็นพลังงานประมาณ 90% ของพลังงานที่ใช้อยู่ในขีวิตประจำวันค่ะ ไมโตคอนเดรียคือโครงสร้างที่บริโภคออกซิเจนจากอากาศที่คุณหายใจเข้าไปนั่นเองค่ะ
การฝึกซ้อมวิ่งอย่างสม่ำเสมอจะช่วยเพิ่มทั้งปริมาณและขนาดของไมโตคอนเดรียในเซลล์กล้ามเนื้อของเพื่อนๆนะคะ ยิ่งเพื่อนๆมีไมโตคอนเดรียมากเท่าไร เพื่อนๆก็ยิ่งสร้างพลังงานจากออกซิเจนได้มากขึ้นเท่านั้น ซึ่งจะช่วยให้คุณวิ่งได้เร็วขึ้นค่ะ
12. โพพริโอเซปชั่น (Proprioception)
คำว่า Proprioception เพิ่งได้รับการเพิ่มเข้ามาในคำศัพท์นักวิ่งไม่นานนี้เองค่ะ ซึ่งหมายถึงความสามารถของสมองที่รับรู้ตำแหน่งของร่างกายในอากาศ และสามารถปรับการเคลื่อนไหวของร่างกายเพื่อตอบสนองได้อย่างทันท่วงทีค่ะ
สมองจะรับการส่งสัญญาณจากตัวรับความรู้สึกที่เป็นแขนงเส้นประสาทในกล้ามเนื้อ เส้นเอ็นยึดข้อ อวัยวะต่างๆ และหูชั้นใน เมื่อสมองรับรู้แล้วว่าร่างกายอยู่ในตำแหน่งไหน ขาวางยังไง มืออยู่ระดับไหน ศีรษะตั้งตรงอย่างไร สมองจะประมวลผล เพื่อส่งสัญญาณประสาทผ่านเส้นประสาทสั่งการ ที่มีปลายทางอยู่ที่กล้ามเนื้อ เส้นเอ็นยึดข้อ เส้นเอ็นกล้ามเนื้อให้หดตัวหรือยืดออกให้เหมาะสมกับตำแหน่งร่างกายและการเคลื่อนไหวที่กำลังทำอยู่นั้น การตัดสินของสมองนี้จะเป็นแนวทางให้ร่างกายเพื่อนๆได้เคลื่อนไหวเพื่อทำกิจกรรมที่หลากหลายได้ ตั้งแต่การเดินเป็นเส้นตรงเอื้อมไปหยิบนาฬิกาปลุกในความมืดค่ะ
ในฐานะนักวิ่ง เพื่อนๆใช้ระบบการรับรู้ร่างกายนี้เพื่อปรับร่างกายให้เหมาะกับพื้นผิวที่ไม่เรียบ การวิ่งบนทรายที่นุ่ม การวางเท้าในรูปแบบที่จะลดโอกาสเกิดข้อเท้าพลิกให้มากที่สุด การฝึกการรับรู้ร่างกายนี้จะช่วยพัฒนาการทรงท่า ความยาวก้าววิ่ง และการวางเท้า ในขณะที่วิ่งได้ดีขึ้นค่ะ
คำศัพท์นักวิ่งโบนัส: อิแลสติก คอยล์ (Elastic recoil)
คำว่า Elastic recoil เป็นคำที่ไม่ค่อยได้ถูกนำมาพูดถึงในวงการนักวิ่งสักเท่าไรนะคะ ทั้งที่มีความเป็นไปได้ที่มันจะมีความสำคัญมากที่สุดในการช่วยเหลือให้นักวิ่งประสบความสำเร็จได้ แต่เกือบจะไม่มีนักวิ่งคนไหนที่จะรู้จักคำนี้ค่ะ
คำว่า Recoil คือความสามารถของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (เช่น เส้นเอ็นกล้ามเนื้อ หรือเนื้อเยื่อต่างๆ) ในการเก็บพลังงานในแต่ละครั้งที่เพื่อนๆยืดพวกมันออก และเมื่อมีการปล่อยแรงยืด พลังงานเหล่านี้จะถูกปล่อยออกมาในขณะที่กล้ามเนื้อหดตัว ซึ่งจะดึงให้เนื้อเยื่อเกี่ยวพันหดสั้นไปด้วยพร้อมกันค่ะ
ตัวอย่างที่ดีที่สุดคือเอ็นร้อยหวายค่ะ ที่เราเห็นได้ชัดเจนว่ามันถูกยืดในทุกครั้งที่วางเท้าบนพื้น การเด้งกลับจะให้แรงส่งไปข้างหน้า 50% ในการวิ่งแต่ละก้าวค่ะ
การนำคำศัพท์นักวิ่งมาใช้นั้น อาจดูเหมือนยากและดูวิทยาศาสตร์จ๋าเหลือเกินนะคะ แต่นั่นก็แค่เพราะว่าเป็นคำศัพท์ที่เพื่อนๆไม่คุ้นเคย เมื่อเริ่มใช้คำศัพท์ทางการกีฬา เพื่อนๆจะเข้าใจว่าไม่มีคำศัพท์ที่จะอธิบายการฝึกซ้อม หลักการ และกลยุทธ์ของการวิ่งได้อย่างเพียงพอ คำศัพท์นักวิ่งจึงเป็นกุญแจสำคัญของคุณในการเข้าใจโลกของนักวิ่งค่ะ
ขอให้เพื่อนนักวิ่งมีกลุ่มพูดคุยคำศัพท์นักวิ่งอย่างมีสาระและถูกต้องกันนะคะ
Recent Comments