Explore the Knowledge for Runner
การวิ่งเท้าเปล่าไม่ใช่เรื่องใหม่ค่ะ นักวิ่งที่วิ่งตามเส้นทางชนบทและป่าเขายังวิ่งเท้าเปล่าเพื่อท่องเที่ยวข้ามทุ่งหญ้า วิ่งในสนามกอล์ฟในช่วงฤดูใบไม้ร่วงมาเป็นเวลาร่วมร้อยปีแล้ว และนักวิ่งชาวเอธิโอเปีย อาเบเบ บิกิลา (Abebe Bikila) แชมป์มาราธอนโอลิปิกที่โรมในปี 1960 ก็วิ่งชนะได้ด้วยเท้าเปล่าค่ะ
สิ่งที่ใหม่ก็คือการบอกว่าการวิ่งเท้าเปล่านั้นดีกว่าการวิ่งใส่รองเท้าค่ะ
การศึกษาในปี 2010 นักมานุษยวิทยาจากฮาวาร์ด เดเนียล ไลเบอร์แมน (Daniel Lieberman) ได้เสนอว่ามนุษย์โบราณชาวแอฟริกันที่ใช้ชีวิตอยู่กับการล่า (ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเดินและการวิ่งเป็นระยะทางไกลๆ) ได้สร้างสรรค์วิวัฒนาการในเรื่องของความทนทานให้มีมากขึ้น การศึกษาระบุถึงนักวิ่งเท้าเปล่าที่วางกลางเท้าหรือปลายเท้าลงบนพื้นจะมีแรงกระแทกน้อยกว่านักวิ่งที่ใส่รองเท้า ที่มีแนวโน้มว่าจะวางส้นเท้าลงบนพื้น คำแนะนำของเขานำมาซึ่งการดิ้นรนของผู้ที่สนับสนุนการวิ่งเท้าเปล่าและรองเท้าแบบมินิมัลลิสต์ ซึ่งกล่าวว่าจะมีแรงกระแทกน้อยกว่าและเป็นการเคลื่อนไหวแบบธรรมชาติมากกว่า และอาจลดการบาดเจ็บได้ แต่มันเป็นอย่างนั้นจริงหรือเปล่าคะ?
การกล่าวว่าการวิ่งด้วยเท้าเปล่าลดการบาดเจ็บได้นั้นขึ้นอยู่กับว่านักวิ่งจำนวน 80 – 85% ที่วางส้นเท้าลงก่อนจะต้องเปลี่ยนการวางเท้าไปเป็นแบบวางกลางเท้าไล่ไปถึงปลายเท้าแทน เมื่อวิ่งด้วยเท้าเปล่า แต่ในความเป็นจริงเแล้ว พวกเขาก็ไม่ได้ทำอย่างนั้น ข้อเท็จจริงก็คือ นักวิ่ง 80% ที่วางส้นเท้าลงก่อนยังคงวิ่งแบบเดิม เพียงแต่เขาวิ่งด้วยเท้าเปล่าเท่านั้นเอง ดังที่ รอส ทัคเกอร์ (Ross Tucker) ผู้เขียนร่วมของเวปไซท์ที่ได้รับความนิยมสูงชื่อ “The Science of Sport” ได้กล่าวไว้ว่า “ผลจากการวิ่งเท้าเปล่าคืออัตราของแรงกระแทกมากกว่าการวิ่งที่ใส่รองเท้าถึง 7 เท่าเมื่อเทียบกับการวางเท้าแบบเดียวกัน”
ผู้ที่สนับสนุนการวิ่งเท้าเปล่าและรองเท้ามินิมัลลิสต์จะกล่าวว่า นักวิ่งเหล่านี้ต้องใช้เวลามากขึ้นเพื่อการเปลี่ยนการวางเท้า แต่การศึกษาระยะเวลา 10 สัปดาห์ในนักวิ่ง 19 คน ที่พยายามปรับการวางเท้าตามคำแนะนำจากรองเท้าแบบแยกห้านิ้วยี่ห้อไวแบรม (Vibram FiveFingers) ซึ่งเป็นรองเท้าแบบมินิมัลลิสต์ที่เลียนแบบการวิ่งเท้าเปล่า พบว่านักวิ่ง 10 คนมีการทำลายของกระดูก ประกอบด้วยนักวิ่ง 2 คนที่พบว่ามีกระดูกหักแบบล้า (Stress fracture) และดูระยะทางวิ่งรวมทั้งหมดก็วิ่งได้น้อยลงด้วย ดอกเตอร์ซาร่าห์ ริดจ์ (Dr.Sarah Ridge) ที่เป็นผู้ทำการทดลองนี้ได้แนะนำว่า นักวิ่งวิ่งน้อยลงเพราะพวกเขารู้สึกเจ็บนั่นเองค่ะ
ผู้สนับสนุนการวิ่งเท้าเปล่ายังคงกล่าวว่าการวิ่งโดยไม่ใส่รองเท้าจะใช้พลังงานและออกซิเจนน้อยกว่าวิ่งแบบใส่รองเท้า ซึ่งจะช่วยให้สมรรถนะการวิ่งแบบทนทานมีมากขึ้น แต่ข้อมูลในเรื่องนี้ยังไม่มีข้อมูลสามารถสนับสนุนได้ดีพอค่ะ
การศึกษาในปี 2012 จากมหาวิทยาลัยโคโลราโด ได้เปรียบเทียบการใช้พลังงานของนักวิ่งทั้งนักวิ่งเท้าเปล่า และนักวิ่งที่ใส่รองเท้าวิ่งน้ำหนักเบา โดยการทดลองได้นำนักวิ่งเท้าเปล่าที่มีประสบการณ์มาวิ่งที่ความเร็วเท่ากันบนลู่วิ่งโดยเปรียบเทียบระหว่างใส่รองเท้าและไม่ใส่รองเท้า ผลการทดลองพบว่าการวิ่งด้วยการใส่รองเท้าน้ำหนักเบาใช้พลังงานน้อยกว่า นี่คือหมัดที่หนึ่งค่ะ
การศึกษาจากมหาวิทยาลัยแมสซาชูเซตส์สรุปว่าทั้งนักวิ่งเท้าเปล่าที่วางส้นเท้าลงก่อน และนักวิ่งที่วางปลายเท้าลงก่อน และถูกนำมาฝึกให้วางส้นเท้าลงก่อนจะใช้พลังงานน้อยกว่านักวิ่งที่วางส้นเท้าลงก่อน นี่คือหมัดที่สองค่ะ
และดอกเตอร์เอียน ฮันเตอร์ (Dr.Iain Hunter) นักชีวกลศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยบริคแฮม ยัง (Brigham Young University) ได้ทำภาพยนตร์การทดลองวิ่ง 10,000 เมตรในอเมริกาปี 2012 แล้วจึงศึกษาการวางเท้าของผู้เข้าแข่งขัน พวกเขามีทั้งวางส้นเท้าลงก่อน วางปลายเท้าลงก่อน วางกลางเท้าลงก่อน หรือแม้แต่วางเท้าแบบบิดด้วย สรุปได้ว่าสำหรับนักวิ่งที่ดีที่สุดในประเทศ การวางเท้ายังคงเป็นเรื่องง่ายๆ และไม่ได้มีผลต่อการวิ่งแต่อย่างใด ได้หมัดที่สามค่ะ
ไม่มีใครปฏิเสธว่านักวิ่งนั้นมีการบาดเจ็บเป็นอัตราที่สูงผิดปกติ แต่การโทษรองเท้าหรือการวิ่งเท้าเปล่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะง่ายไปนิดค่ะ แล้วอะไรล่ะ ที่นำไปสู่การบาดเจ็บ อาจเป็นได้ทั้งร่างกายนักวิ่งเอง หรืออุปกรณ์ด้วยก็ได้ บางทีทัคเกอร์อาจพูดถูก เขากล่าวว่า “ผมสามารถบอกได้ว่าเหตุผลของการบาดเจ็บคือการฝึกซ้อมนั่นเอง”
ขอให้เพื่อนนักวิ่งวิ่งวางเท้าในแบบที่ตัวเองถนัด และทำเวลาได้ดีขึ้นเรื่อยๆกันทุกคนนะ
Page: Joylyrunning
Website: Joylyrunning.com
Recent Comments