Explore the Knowledge for Runner
ทุกคนทราบดีแล้วว่านักวิ่งระยะไกลมีอัตราการเต้นของหัวใจที่ต่ำ อาจมีอัตราที่ต่ำถึงประมาณ 40 และ 50 ครั้งต่อนาที ถือว่าเป็นอัตราเต้นที่ปกติสำหรับนักวิ่งที่วิ่งมานาน และบางคนอาจจะเต้นน้อยมากถึงขนาด 30 ครั้งต่อนาที หรือแม้แต่ 20 ต้นๆ
แต่อัตราการเต้นของหัวใจทุกคนจะต่ำลงเพราะการฝึกซ้อมหรือไม่?
สำหรับคนส่วนใหญ่ คำตอบคือใช่ค่ะ แต่ด้วยคุณสมบัติที่หลากหลาย ทั้งกรรมพันธุ์ และชนิดของการฝึกซ้อมที่เพื่อนๆทำจะมีผลต่ออัตราการเต้นของหัวใจของคุณว่าจะต่ำลงมากเท่าใด
ลองเปรียบเทียบนักวิ่งอมตะตลอดกาลสองคนดูนะคะ จิม ไรอุน (Jim Ryun) เจ้าของสถิติโลกหนึ่งไมล์ชาวอเมริกันคนล่าสุด มีอัตราการเต้นของหัวใจขณะพักเท่ากับ 60 ครั้งต่อนาที ในทางกลับกัน รอน คลาร์ก (Ron Clarke) นักวิ่งระยะไกลชาวออสเตรเลียที่ทำสถิติโลกติดกัน 17 ครั้ง ในช่วงทศวรรษ 1960 มีอัตราการเต้นของหัวใจขณะพักเท่ากับ 28 ครั้งต่อนาที ชายทั้งสองคนนี้มีความฟิตของร่างกายสุดยอด แต่อัตราการเต้นของหัวใจขณะพักของคลาร์กน้อยกว่าไรอุนตั้งครึ่งหนึ่งเลยค่ะ
เพื่อทำความเข้าใจความแตกต่างนี้ เพื่อนๆต้องเข้าใจว่าทำไมอัตราการเต้นของหัวใจขณะพักถึงลดต่ำลงได้ เมื่อเพื่อนๆวิ่ง กล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างข้างซ้ายที่บีบตัวเพื่อปั๊มเลือดไปให้กับร่างกายทั้งหมดมีความแข็งแรงมากขึ้น (เหมือนกับการที่ครูแอโรบิคทำให้กล้ามเนื้อท้องของเพื่อนๆแข็งแรงขึ้นเพราะบังคับให้เพื่อนๆออกกำลังทุกวัน) และเพราะว่ามันแข็งแรงขึ้นนั่นเอง หัวใจจึงสามารถปั๊มเลือดออกไปได้มากขึ้นในการบีบตัวแต่ละครั้ง ในขณะพัก หัวใจคนปกติจะปั๊มเลือดออกไปได้ประมาณ 5 ลิดรต่อนาที แต่เมื่อหัวใจของเพื่อนๆปั๊มเลือดได้มากขึ้นในแต่ละครั้งที่บีบตัว มันจะต้องปั๊มจำนวนครั้งน้อยลงเพื่อส่งเลือดปริมาตร 5 ลิตรนั้น ในขณะที่หัวใจคนที่ไม่ได้ฝึกซ้อมต้องการการบีบตัว 60 – 100 ครั้งต่อนาทีเพื่อส่งเลือดปริมาตร 5 ลิตรไปให้ร่างกาย แต่หัวใจของคนที่ฝึกซ้อมมาดีแล้วต้องการการบีบตัวเพียงแค่ 45 – 55 ครั้งต่อนาทีเท่านั้น
แน่นอนว่าหัวใจเพื่อนๆจะปั๊มเลือดปริมาตรมากกว่า 5 ลิตรต่อนาทีเวลาวิ่ง ซึ่งจะนำมาซึ่งปัจจัยใหม่ที่มีบทบาทมากขึ้น นั่นก็คือ “อัตราการเต้นของหัวใจสูงสุด” (Maximum heart rate) ซึ่งหมายถึงจำนวนครั้งที่หัวใจบีบตัวได้มากที่สุดในเวลาหนึ่งนาที ปริมาตรของเลือดที่หัวใจเพื่อนๆสามารถปั๊มได้ในหนึ่งนาทีสามารถหาได้จากสูตรง่ายๆนั่นก็คือ นำจำนวนเลือดที่หัวใจปั๊มได้ในการบีบตัวแต่ละครั้งซึ่งเรารู้จักกันแล้วว่าคือ Stroke volume (อย่าพยายามที่จะหาค่านี้ด้วยตัวเองค่ะ เพื่อนๆต้องมีห้องแลปที่เฉพาะเจาะจง แต่จงดูเป็นแนวคิดไปแทนนะคะ) แล้วคูณด้วยอัตราการเต้นของหัวใจสูงสุด หรือจะเขียนออกมาเป็นสูตรได้ว่า
Stroke volume x Maximum heart rate = Maximum blood volume per minute
คนส่วนใหญ่จะมีอัตราการเต้นของหัวใจสูงสุดเท่ากับการเต้นของหัวใจ 220 ครั้งต่อนาทีลบออกด้วยอายุของคนนั้น ยกตัวอย่างเช่น คนอายุ 30 ปีจะมีอัตราการเต้นของหัวใจประมาณ 190 ครั้งต่อนาที (มาจาก 220 ลบด้วย 30 นั่นเอง) อ้ตราการเต้นของหัวใจสูงสุดนี้ไม่สามารถฝึกให้มากขึ้นได้ มันเป็นพันธุกรรม ดังนั้นถ้าคนสองคนอายุเท่ากับ 30 เท่าๆกันมาแข่งกัน คนที่มีอัตราการเต้นของหัวใจขณะพักที่ต่ำกว่า (เช่น คนที่มี Stroke volume มากกว่า) ในเชิงทฤษฎีแล้วจะสามารถปั๊มเลือดออกไปได้มากกว่า ซึ่งจะช่วยนำส่งออกซิเจนให้กล้ามเนื้อที่ทำงานได้มากกว่า และด้วยวิธีนี้จะได้รับประโยชน์มากกว่าค่ะ
ย้อนกลับไปที่ไรอุนและคลาร์ก หัวใจของไรอุนไม่ได้เป็นไปตามกฎช่วงอายุยี่สิบปีของเขา แต่มีอัตราการเต้นของหัวใจสูงสุดที่ 220 – 230 ครั้งต่อนาที น่าประหลาดใจใช่ไหมคะ อัตราการเต้นของหัวใจที่สูงนี้ ทำให้หัวใจเขาสามารถปั๊มเลือดออกไปได้ปริมาตรมากในการบีบตัวแต่ละนาที ในทางกลับกัน คลาร์กมีอัตราการเต้นของหัวใจสูงสุดปกติ ดังนั้นเขาต้องเพิ่มปริมาตรของเลือดที่หัวใจปั๊มออกไปได้ในแต่ละครั้งให้มากขึ้นเพื่อสร้างการไหลเวียนเลือดให้เพียงพอต่อการแข่งขันระดับโลก โดยเฉพาะการแข่งขันวิ่งระยะทางไกลที่ต้องใช้พลังงานจากการเผาผลาญด้วยออกซิเจน 100 เปอร์เซ็นต์ หัวใจของคลาร์กถูกผลักดันให้มีการปรับตัวขนานใหญ่ ในขณะที่หัวใจของไรอุนไม่ต้องทำอย่างนั้นมากนัก
สรุปแล้วถ้าพันธุกรรมของเพื่อนๆไม่ประหลาดเหมือนไรอุน อัตราการเต้นของหัวใจก็น่าจะลดลงได้จากการฝึกซ้อม แต่ถ้าพันธุกรรมของเพื่อนๆปกติเหมือนคลาร์ก การฝึกซ้อมระดับปานกลาง ก็ไม่น่าจะตกลงไปจนถึง 28 ครั้งต่อนาทีได้ค่ะ
ขอให้เพื่อนนักวิ่งมีอัตราการเต้นของหัวใจขณะพักน้อยลงเรื่อยๆนะคะ
Page: Joylyrunning
Website: Joylyrunning.com
Recent Comments