Explore the Knowledge for Runner
เมื่อนักวิ่งมีอาการหัวใจวาย ดังเช่นนักวิ่งบุกเบิก จิม ฟิกซ์ (Jim Fixx) ที่มีอาการหัวใจวายจนถึงแก่ชีวิตหลังการฝึกซ้อม แล้วกลายเป็นข่าว แต่เป็นเพียงข่าวเล็กๆ และเมื่อนักวิ่งเสียชีวิตจากอาการหัวใจวายระหว่างการแข่งขันมาราธอนที่ชิคาโกและลอนดอนในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา มันเลยกลายเป็นข่าวใหญ่ขึ้นมา จนเมื่อหนังสือพิมพ์อย่าง Wall Street Journal ได้ตีพิมพ์การศึกษาในนักวิ่งระยะไกลที่ทานชีสเบอร์เกอร์และแนะนำว่า “เป็นการเพิ่มความอ่อนแอให้หัวใจห้องบนทำให้เกิดภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว (Atrial fibrillation) และภาวะการมีไขมันจับที่ผนังหลอดเลือดหัวใจ (Coronary-artery plaque) สามารถทำให้นักวิ่งมีความเสี่ยงต่อสุขภาพได้” นักวิ่งในทุกๆที่จึงเริ่มลุกขึ้นยืนดูและให้ความสนใจ แม้พวกเรารู้ว่าพวกเราจะไม่เป็นอมตะ แต่พวกเราก็ชอบที่จะเชื่อว่าพวกเราสุขภาพดีกันทุกคนใช่ไหมล่ะคะ ก็พวกเราเป็นนักวิ่งนี่นา
ดังนั้น เพื่อนๆควรมีปฏิกิริยาอย่างไรกับข่าวนี้ต่อการเล่นกีฬาของเพื่อนๆกันดีคะ? เพื่อนๆควรเก็บรองเท้าวิ่งเข้าไว้ในตู้เสื้อผ้าหรือไม่? สาบานว่าจะเลิกวิ่งและเริ่มอ่านเรื่องฆ่าเวลาอย่าง Wall Street Journal หรือเปล่า? อย่างแรกเลย ลองมาดูว่าผู้เชี่ยวชาญเขาว่าอย่างไรกันบ้างนะคะ
การศึกษาที่ถูกตีพิมพ์ในปี 2012 ใน The New England Journal of Medicine ได้ทบทวนอุบัติการณ์การเกิดอาการหัวใจวายในนักวิ่งแข่งมาราธอนและฮาล์ฟมาราธอนจำนวน 10.9 ล้านคนที่วิ่งระหว่างปี 2000 – 2010 แล้วพบว่านักวิ่ง 1 คนจากจำนวน 184,000 คนต้องทรมานจากอาการหัวใจวาย โดยที่ 42 คนจากคนหัวใจวาย 59 คนเสียชีวิต นี่เป็นเรื่องน่าสลดใจ แต่ก็ยังกล่าวได้ว่าเป็นความเสี่ยงที่ต่ำ ถ้าเทียบกับกีฬาชนิดอื่น คือ 1 ใน 5 เมื่อเทียบกับไตรกีฬา และ 1 ใน 6 ของกีฬาระดับวิทยาลัย
ถ้านั่นยังไม่สามารถทำให้เพื่อนๆแน่ใจได้ ลองมาดูการวิเคราะห์ของ National Runners Health Study ในปี 2013 กัน การศึกษานี้ได้ติดตามนักวิ่งจำนวน 32,073 คน และนักเดินจำนวน 14,734 คน เป็นเวลา 6 ปี และสรุปว่านักวิ่งที่วิ่งระยะทางมากกว่า 24 ไมล์ หรือ 38.4 กิโลเมตรต่อสัปดาห์ จะประสบกับอุบัติการณ์อาการหัวใจเต้นผิดจังหวะน้อยกว่าคนที่ออกกำลังน้อยกว่านั้น
ความจริงก็คือการวิ่งนั้นทำให้เกิดอาการหัวใจวายร้ายแรงน้อยลง 50% เพราะว่าการวิ่งไม่ใช่สาเหตุของอาการหัวใจวาย โรคหัวใจต่างหากที่เป็นสาเหตุของอาการหัวใจวาย อืม … แล้วอะไรที่เป็นสาเหตุของโรคหัวใจล่ะ? และเจ้าคอเลสเตอรอลก็ได้ชัยชนะในครั้งนี้ไปและยังถือครองความเป็นแชมป์มาหลายปีแล้ว การศึกษาแบบวิเคราะห์อภิมานในปี 2012 (ดึงข้อมูลจากงานวิจัย 170 ฉบับ ที่มีอาสาสมัครเข้าร่วมงานวิจัยจำนวน 190,000 คน) ได้ปักหมุดว่าส่วนใหญ่เกิดจากภาวะอักเสบ การศึกษาในปี 2006 จาก Harvard Medical School และ Brigham and Women’s Hospital ได้ข้อสรุปเหมือนกัน ยืนยันว่ามี “การอักเสบเกิดขึ้นได้ในทุกขั้นตอนของโรคหัวใจ จากจุดเริ่มต้นของพยาธิสภาพไปจนถึงขั้นสุดท้ายที่มีภาวะลิ่มเลือดอุดตัน”
หรือในอีกมุมมองหนึ่ง ภาวะอักเสบ ไม่ได้เกิดเป็นช่วงๆ แต่เป็นการค่อยๆสะสมก้อนเลือดขึ้นภายในผนังเส้นเลือดแดง แล้วเพื่อนๆรู้ไหมว่าอะไรสามารถต่อสู้กับกระบวนการอักเสบนี้ได้? ใช่แล้ว การวิ่งนั่นเองค่ะ การเคลื่อนที่อย่างรวดเร็วของเลือดภายในหลอดเลือดนั้นเป็นเกราะป้องกันเส้นเลือดแดงอย่างดีเลยค่ะ ทำให้ไม่เกิดภาวะเส้นเลือดแดงแข็งตัว และการศึกษาในปี 2011 จากสแกนดิเนเวีย พบว่าการมีกิจกรรมทางกายที่มากขึ้นมีความสัมพันธ์กับภาวะอักเสบที่ลดลงค่ะ
ดังนั้นจงวิ่งต่อไปค่ะ และถ้าเพื่อนๆยังคงกังวลเกี่ยวกับการวิ่งมาราธอนแล้วล่ะก็ ลองวิ่งแค่ 5 กิโลเมตร หรือ 10 กิโลเมตรก่อนก็ได้ค่ะ
ขอให้เพื่อนนักวิ่งวิ่งให้ได้มากกว่า 38 กิโลเมตรต่อสัปดาห์เพื่อลดอัตราเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจกันนะคะ
Page: Joylyrunning
Website: Joylyrunning.com
Recent Comments