สาเหตุอาการล้าในนักวิ่ง

อาการล้าเกิดขึ้นเมื่อกล้ามเนื้อที่กำลังใช้งานในการออกกำลังกายมีสมรรถนะค่อยๆลดลงเรื่อยๆ ประกอบกับอาการไม่สบายทั้งทางร่างกายและจิตใจ แต่ก็ยังมีการไม่เห็นด้วยจริงๆต่อสาเหตุของสมรรถนะที่ลดลง และทำให้เกิดอาการล้าตามมา (หรือในกรณีของการสั่งการจากสมองส่วนกลางที่ทำงานก่อนล่วงหน้า เพื่อให้ร่างกายเตรียมตัว) ลองมาดูสาเหตุของอาการล้ากันดูทีละข้อนะคะ

สาเหตุที่ 1: ภาวะกรด

เราได้เคยพูดถึงเรื่องสภาวะความเป็นกรดหรือค่า pH ต่ำกันไปแล้ว ไฮโดรเจนอิออนจะถูกสร้างขึ้นระหว่างการสร้างพลังงานในช่วงการออกกำลังกายที่หนักจนทำให้ความสามารถในการควบคุมความเป็นกรดเบสของเส้นใยกล้ามเนื้อต้องพ่ายแพ้ไป ผลลัพธ์จากภาวะกรดได้ถูกเชื่อมโยงไปถึงภาวะการปล่อยแคลเซียมภายในเส้นใยกล้ามเนื้อลดลง (แคลเซี่ยมมีความสำคัญต่อการหดตัวของกล้ามเนื้อ), การลดการผลิต ATP, การลดการแตกตัวของ ATP (เป็นการปล่อยพลังงานจาก ATP), ลดการสร้างแรง และลดความเร็วในการหดตัวของกล้ามเนื้อ การศึกษาของชาวออสเตรเลียในปี 1995 ได้สรุปไว้ว่า “การเกิดภาวะกรดในเซลล์มีผลกระทบต่อการทำงานของเซลล์ในหลายๆแง่มุม” และการศึกษาในปี 2006 โดยคนุทห์ (Knuth), เดฟ (Dave), ปีเตอร์ (Peters), และฟิตส์ (Fitts) ได้ยืนยันว่า “อาการล้าเหนี่ยวนำให้เกิดภาวะ pH ต่ำ” เห็นได้อย่างชัดเจนในมนุษย์

55 - 2 สาเหตุอาการล้า 2

สาเหตุที่ 2: การรั่วของช่องทางลำเลียงแคลเซียม

เมื่อด็อกเตอร์แอนดริว มาร์คส์ (Dr.Andrew Marks) พยายามมองหาสาเหตุอาการอ่อนล้าของเส้นใยกล้ามเนื้อหัวใจในผู้ป่วยหัวใจล้มเหลว เขาค้นพบว่ามีการทำลายของช่องทางลำเลียงแคลเซียม แคลเซียมจะถูกปล่อยออกมาในเส้นใยกล้ามเนื้อเหมือนเป็นบทนำของการหดตัวของกล้ามเนื้อ แล้วจึงถูกปั๊มกลับเข้าพื้นที่เก็บอย่างรวดเร็ว (ที่เก็บแคลเซียมในกล้ามเนื้อมีชื่อว่าซาโคพลาสมิก เรติคูลั่ม: sarcoplasmic reticulum) ดังนั้นจึงทำให้กล้ามเนื้อคลายตัวได้ การทำลายของช่องทางลำเลียงแคลเซียมมีผลทำให้แรงหดตัวของกล้ามเนื้อลดลง การศึกษาในปี 2008 มาร์คส์ขยายทฤษฎีของเขาไปที่กล้ามเนื้อลายด้วย โดยทำการทดลองในหนู หนูทดลองได้ถูกกระตุ้นให้ต้องว่ายน้ำ 90 นาที 2 ครั้งต่อวันโดยมีกลุ่มให้ยาป้องกันการรั่วออกของแคลเซียมและกลุ่มที่ไม่ได้ให้ยา กลุ่มหนูที่ได้รับยาไม่แสดงว่ามีสมรรถนะลดลงในช่วงเวลาที่ถึงจุดเหนื่อยที่สุดในช่วงสัปดาห์ที่ทำการทดลอง ในขณะที่กลุ่มหนูที่ไม่ได้รับยามีสมรรถนะที่ลดลง การทดลองต่อมาทำกับนักปั่นจักรยานที่ได้รับการฝึกแล้ว โดยกระตุ้นให้ออกกำลังกายไปถึงจุดความสามารถการใช้ออกซิเจนเกือบสูงสุดเป็นเวลา 3 ชั่วโมง 3 วันต่อเนื่องกัน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการทำลายของช่องทางลำเลียงแคลเซียมในเส้นใยกล้ามเนื้อ แต่ได้มีการคุ้มครองทางศีลธรรมในการทำการทดลอง ทำให้มาร์คส์ไม่ได้รับอนุญาตเรื่องการให้ยากับนักกีฬา (ช่องทางลำเลียงแคลเซียมจะซ่อมแซมตัวเองจนหายได้เอง แต่อย่างไรก็ตามยังต้องใช้เวลา 2-3 วัน) ตั้งแต่มีการทดลองกับหนูที่ได้ถูกทำให้ถึงจุดเหนื่อยเต็มที่ของการออกกำลังที่ความหนักเกือบสูงสุดนั้น นักทดลองก็ยังไม่ทราบว่าอะไรก่อให้เกิดการรั่วของช่องทางลำเลียงแคลเซียมในโลกแห่งความเป็นจริง (เพิ่มเติมว่ามาร์คส์ไม่ได้กำลังพูดถึงการรั่วของช่องทางลำเลียงแคลเซียมในเส้นใยกล้ามเนื้อลายจากการออกกำลังกาย สามารถนำไปสู่การทำลายของช่องทางลำเลียงแคลเซียมในหัวใจ เพื่อนๆจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็วได้จากการเปลี่ยนแปลงของเส้นใยกล้ามเนื้อ ถ้าทุกอย่างเป็นไปได้ด้วยดี เพื่อนๆจะได้เส้นใยกล้ามเนื้อที่แข็งแรงขึ้นกว่าก่อนการฝึกซ้อมค่ะ)

สาเหตุที่ 3: อุณหภูมิร่างกาย

เมื่ออุณหภูมิร่างกายของเพื่อนๆเพิ่มไปจนถึงจุดวิกฤตของอุณหภูมิแกนระหว่างการออกกำลังกายที่ 40 องศาเซลเซียส (104 องศาฟาเรนไฮท์) เพื่อนๆจะหยุดวิ่ง แต่ดังที่ด็อกเตอร์รอส ทักเกอร์ (Ross Tucker) ชี้จากมุมกว้างและลงลึกเข้าไปอีกเกี่ยวกับเรื่องอาการล้าในเวปไซท์ของเขาที่ชื่อว่า “ศาสตร์ของกีฬา” (The Science of Sport) การทดลองของเขาอยู่บนพื้นฐานเรื่องภาวะร่างกายล้มเหลวจากความร้อนซึ่งก็คือ “การสร้างความร้อนเพื่อประเมินแรงทางสรีระวิทยาที่สามารถนำไปสู่ความล้มเหลวของร่างกายที่เห็นผลแตกต่างชัดเจน” ทักเกอร์อธิบายว่ามนุษย์ส่วนใหญ่จะไม่เรียกว่าถึงจุดสูงสุดของการออกกำลังได้จนกว่าร่างกายของพวกเขาจะมีอุณหภูมิถึง 40 องศาเซลเซียส (อาจมากถึง 106 องศาฟาเรนไฮท์ สำหรับนักกีฬาที่มีแรงจูงใจสูงมากๆ) เพราะเรามีทางเลือกที่จะออกแรงช้าลงได้ ทัคเกอร์มีนักปั่นจักรยานที่ได้รับการฝึกมาแล้ว 12 คน ทดลองจับเวลาปั่นจักรยาน 20 กิโลเมตรทั้งในอากาศร้อนและเย็น ที่กิโลเมตรที่ 5 นักปั่นจักรยานในอากาศร้อนจะปั่นได้ช้าลง ถึงแม้ว่าอุณหภูมิร่างกายจะยังอยู่ในค่าที่เหมือนกันกับนักปั่นจักรยานที่ปั่นในอากาศเย็น (วัดที่เวลาเดียวกัน) แต่สัญญาณจากสมองที่ส่งไปหากล้ามเนื้อกลับลดลงค่ะ นักปั่นจักรยานไม่ได้ปั่นช้าลงเพราะว่าอุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้น แต่ช้าลงเพราะว่า “การรอคอยอย่างคาดหวัง” ของสมองว่าร่างกายจะอุณหภูมิสูงขึ้นแน่ๆในอนาคต  สมองจึงทำให้ร่างกายเคลื่อนไหวได้ช้าลง เพื่อป้องกันการเกิดการทำงานของร่างกายที่ล้มเหลวค่ะ

55 - 2 สาเหตุอาการล้า 3

สาเหตุที่ 4: ภาวะกระตุ้นให้เกิดการกลับขั้วของเซลล์ประสาท (Depolarization)

นักไตรกรีฑา นักวิ่ง และนักเขียนนามว่า แมทท์ ฟิทซ์เจอรัลด์ (Matt Fitzgerald) ผู้เป็นเหมือนผู้สื่อข่าวที่รู้ล่วงหน้าถึงทฤษฎีการวิ่งใหม่ที่เชื่อถือได้ ได้เขียนไว้ว่า “การทำงานของกล้ามเนื้อจะทำงานเหมือนแบตเตอรี่ พวกมันทำงานต่อเนื่องได้ด้วยกระแสไฟฟ้า และก็เหมือนกับแบตเตอรี่ พวกมันจะมีกำลังมากที่สุดเมื่อพวกมันถูกใส่ประจุเข้าไปมากที่สุด” อย่างไรก็ตาม เมื่อเพื่อนๆออกกำลังที่ความหนักมากๆ ความแตกต่างของประจุบวกระหว่างพื้นที่ภายในเส้นใยกล้ามเนื้อและพื้นที่ว่างภายนอกเส้นใยกล้ามเนื้อจะลดลง ภาวะความแตกต่างของขั้วที่ลดลงนี้ (Depolarization) ทำให้เส้นประสาทต้องทำงานหนักขึ้นในการส่งสัญญาณประสาทแทรกซึมเข้าสู่เส้นใยกล้ามเนื้อ นำไปสู่การหดตัวที่น้อยลง จึงทำให้มีแรงลดลง มีการศึกษาในปี 2001 และ 2010  ที่น่าสนใจสรุปว่า ภาวะกรดสามารถทำให้เกิดความแตกต่างของประจุไฟที่ลดลงนี้ได้ ในความเป็นจริงแล้ว การศึกษาหลังสุดนั้นได้พบว่าแลคเตทสามารถป้องกันการเกิดภาวะการลดลงของความแตกต่างของประจุไฟได้โดยตัวมันเอง และ “อาจลดความสำคัญของประจุโพแทสเซียมที่เป็นบวกและอยู่ภายนอกเซลล์กล้ามเนื้อไม่ให้สูงขึ้นจนพัฒนาไปเป็นอาการล้าได้” มากไปกว่านั้น แลคเตทที่ถูกปล่อยเข้าไปในกระแสเลือด สามารถทำให้ความแตกต่างระหว่างประจุที่ลดลงนั้นกลับมาเป็นกลางในเส้นใยกล้ามเนื้อทั้งร่างกายได้ค่ะ

สาเหตุที่ 5: แอมโมเนีย 

การเพิ่มระดับของแอมโมเนียมีความสัมพันธ์กับโรคตับ เช่น โรคตับแข็ง ซึ่งเป็นภาวะที่ตับไม่สามารถแปลงแอมโมเนียเป็นยูเรียได้อย่างเพียงพอ จึงทำให้มีแอมโมเนียสะสมในร่างกายมาก ส่งผลให้สมองทำงานลดลงและเกิดผลมีพิษอื่นๆตามมาด้วย การศึกษาพบว่าการออกกำลังกายที่หนักและยาวนานทำให้เพิ่มระดับแอมโมเนียภายในเส้นใยกล้ามเนื้อได้ (ผ่านทางการนำกลุ่มอะมิโนออกจากอะดีโนซีน โมโนฟอสเฟต [AMP] และสายโซ่ของกรดอะมิโน) การศึกษาในปี 2010 โดยวิลกินสัน (Wilkinson), สมีตัน (Smeeton), และวัตต์ (Watt) เตือนว่า “ความเข้มข้นของพลาสม่าของแอมโมนเนียระหว่างการออกกำลังกายมักจะถึงระดับหรือสูงกว่าระดับที่วัดได้ในตับของผู้ป่วย ส่งผลต่อการเพิ่มการดูดซึมเข้าสู่สมอง” เมื่อแอมโมเนียข้ามผ่านตัวกรองกั้นระหว่างเลือดและสมอง (Blood-brain barrier) ผลพิษจากแอมโมเนียต่อระบบประสาทจะลดการกระตุ้นการทำงานของเส้นใยกล้ามเนื้อ และทำให้เกิดความรู้สึกล้าได้ค่ะ

55 - 2 สาเหตุอาการล้า 4

สาเหตุที่ 6: การกำจัดไกลโคเจน

นักวิ่งทั้งหมดรู้จักวลีที่ว่า “ชนกำแพง” กันเป็นอย่างดี มันเป็นช่วงขณะที่วิ่งมาราธอน (หรือการวิ่งไกล) ไปได้ประมาณกิโลเมตรที่ 24 ถึง 32 เมื่อไกลโคเจนที่เก็บไว้ถูกใช้ไปจนแห้งเหือด ผลักดันให้เพื่อนๆไปใช้พลังงานจากไขมันและโปรตีนแทน ในคนหนึ่งคนจะมีการเก็บไกลโคเจนในร่างกายเฉลี่ยประมาณ 300 – 400 กรัม (1,200 – 1,600 แคลอรี่) แต่นักกีฬาที่ได้รับการฝึกฝนการโหลดคาร์โบไฮเดรตจะสามารถเก็บได้มากกว่า 2 เท่า การศึกษาในปี 2001 ซึ่งมี โน็คส์ (Noakes) (ที่กล่าวถึงก่อนหน้านี้แล้วในเรื่องทฤษฎีการล้าจากสมองส่วนกลาง) เป็นผู้ค้นพบว่าระหว่างนักปั่นจักรยานที่ได้รับการโหลดคาร์โบไฮเดรต และไม่ได้โหลด เมื่อเริ่มการทดสอบที่ความเร็วเท่ากัน นักปั่นจักรยานที่ไม่ได้รับการโหลดคาร์โบไฮเดรตจะปั่นได้ช้าลงในช่วงเวลาไม่กี่นาทีเมื่อเทียบกับนักปั่นที่ได้รับการโหลดคาร์โบไฮเดรต และที่น่าสนใจมากไปกว่านั้นก็คือ นักปั่นจักรยานที่ได้รับการโหลดคาร์โบไฮเดรตสามารถขี่จักรยานจนจบเวลาทดสอบทั้งหมดได้เร็วกว่านักปั่นจักรยานที่ไม่ได้รับการโหลดคาร์โบไฮเดรตถึง 6% ทั้งสองกลุ่มจบการทดสอบด้วยปริมาณไกลโคเจนจริงที่อยู่ในกล้ามเนื้อเท่ากันทั้งสองกลุ่ม พูดอีกแบบหนึ่งก็คือ พวกเขาทั้งสองกลุ่มเลือกความเร็วที่มีความสัมพันธ์โดยตรงกับระดับไกลโคเจนในกล้ามเนื้อที่มีในขณะนั้นค่ะ

สาเหตุที่ 7: ฟอสเฟตอนินทรีย์ (Inorganic phosphate)

เมื่อเพื่อนๆเผาผลาญ ATP เป็นพลังงาน มันจะแตกตัวออกเป็น ADP และฟอสเฟตอนินทรีย์ (Pi) ต่อมา ADP และฟอสเฟตอนินทรีย์ที่แตกตัวออก จะถูกนำมารวมกันเพื่อสร้างเป็น ATP ที่มากขึ้นเพื่อใช้งานต่อไป ระหว่างการออกกำลังกายอย่างหนัก การสร้าง ATP จะน้อยลงหลังจากที่มีการบริโภค ATP ไปแล้ว ด็อกเตอร์เออร์เนสท์ ดับบลิว แมกลิสโก (Ernest W. Maglischo) เขียนไว้ในงานของเขาในปี 2012 ว่า “แคลเซียมในกล้ามเนื้อเปลี่ยนแปลงการทำงานจากการเพิ่มขึ้นของฟอสเฟตอนินทรีย์ และ ADP ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหลักของอาการกล้ามเนื้อล้าได้” และการทบทวนในปี 2012 โดยอัลเลน (Allen) และแทรโจโนฟสกี (Trajonovska) ให้เหตุผลว่า แม้แต่การออกกำลังที่ความหนักปานกลางก็สามารถนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของระดับฟอสเฟตอนินทรีย์ได้ เป็นผลให้มีการปล่อยแคลเซียมเข้าไปในเส้นใยกล้ามเนื้อลดลง ลดการกระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อ และทำให้ล้าได้ค่ะ

55 - 2 สาเหตุอาการล้า 5

สาเหตุที่ 8: ออกซิเจนวิ่งสู่สมองน้อยลง

อาการวิงเวียนศีรษะที่เพื่อนๆรู้สึกในการแข่งขันวิ่งระยะทางท้ายๆ อาจเป็นอาการที่สมองมีระดับออกซิเจนต่ำลงมากถึง 25% อ้างอิงจากการศึกษาในปี 2010 ที่โทษภาวะออกซิเจนในสมองต่ำ ทำให้ลดการกระตุ้นกล้ามเนื้อ ลดการทำงานของระบบประสาท และทำให้เกิดอาการล้า การศึกษานี้ได้ถูกทำการวิจัยซ้ำอีกจำนวนมากมาย แต่การวิจัยเหล่านี้มีหนึ่งอย่างที่เหมือนกันนั่นคือ ผู้เข้าร่วมงานวิจัย ต้องออกกำลังจนหมดแรง การศึกษาในปี 2010 ของบิลล็อท (Billaut) และคณะ มีความแตกต่างตรงที่นักวิ่งได้รับอนุญาตให้วิ่งที่ความเร็วที่ตนเองพอใจตลอดช่วงเวลาที่ทำการทดสอบ 5 กิโลเมตร ในครั้งนี้ ระดับออกซิเจนในสมองของนักวิ่งยังอยู่ในช่วงที่ไม่ “ขัดขวางสมรรถนะของการออกกำลังกายอย่างหนัก” แม้นักวิ่งจะรายงานว่าการออกกำลังที่ความหนักตอนนั้นเขารู้สึกว่าหนักมากที่สุดแล้วค่ะ

สาเหตุที่ 9: อาการล้าที่ระบบประสาทส่วนกลาง

ถึงแม้ว่ามักจะถูกมองข้ามบ่อยๆ แต่ก็ไม่เป็นที่น่าสงสัยที่ระบบประสาทส่วนกลาง (Central Nervous System: CNS) มีบทบาทสำคัญต่ออาการล้า การศึกษาในปี 1997 โดยเดวิส (Davis) และเบลเลย์ (Bailey) ใน Medicine & Science in Sports & Exercise ได้ให้เหตุผลว่า “ความไม่เต็มใจในการสร้างและรักษาไว้ซึ่งแรงผลักดันจากระบบประสาทส่วนกลางเพื่อให้กล้ามเนื้อทำงานต่อไปได้ คือคำอธิบายเกือบทั้งหมดของอาการล้าสำหรับคนส่วนใหญ่ระหว่างการมีกิจกรรมโดยปกติ” ผู้เขียนได้พิจารณาว่าการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของระดับสารสื่อประสาท คือสิ่งที่จะต้องกล่าวโทษอย่างแน่นอน (โดยเฉพาะผู้ถูกกล่าวหาอันดับต้น นั่นก็คือ เซโรโทนิน) และยังเพิ่มเข้าไปอีกว่า ไซโตคิเนส (Cytokines) และแอมโมเนีย (Ammonia) อาจมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย การศึกษาในปี 2000 โดยเดวิส (Davis), อัลเดอร์สัน (Alderson) และเวลช์ (Welsh) ที่วิจัยเกี่ยวกับเซโรโตนินและอาการล้าของระบบประสาทส่วนกลาง ได้กล่าวไว้ว่า ระดับเซโรโตนิน “เพิ่มขึ้นในหลายๆส่วนของสมองระหว่างการออกกำลังกายเป็นเวลานานและจะถึงจุดสูงสุดเมื่อมีอาการล้า” สารเซโรโตนินคือสารเกี่ยวกับความเฉื่อยชา ความง่วงนอน และอารมณ์ที่หลากหลายค่ะ

55 - 2 สาเหตุอาการล้า 6

สาเหตุที่ 10: การบาดเจ็บของกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน

อีกหนึ่งปัจจัยที่ไม่ค่อยได้รับการพิจารณาคือการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อเกี่ยวพันต่ออาการล้าค่ะ การวิ่งระยะไกลที่มากพอ หรือการวิ่งหนักและไกลอย่างเพียงพอนั้น จะทำให้เพื่อนๆไปถึงจุดที่รู้สึกว่ามีการรบกวนทุกก้าวที่วิ่ง และแม้ในขณะที่เพื่อนๆยังไม่ได้ไปถึงจุดที่มีความล้มเหลวทางร่างกายที่เกิดขึ้นจริง หรือเกิดพร้อมกับปัจจัยอื่นๆบางประการ แต่มันก็จะมีช่วงเวลาที่กล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อเกี่ยวพันถูกทำให้หมดเรี่ยวหมดแรงอย่างแท้จริงได้ และนำไปสู่บทสรุปที่หลีกหนีไม่พ้น นั่นก็คือ “ฉันไม่สามารถจะก้าวต่อไปอีกสักก้าวแล้ว” นั่นเองค่ะ

สาเหตุที่ 11: การป้อนข้อมูลย้อนกลับสู่สมอง

ทฤษฎีการป้อนข้อมูลย้อนกลับสู่สมอง (การรับความรู้สึกส่งเป็นสัญญาณบอกกลับให้กับสมอง) ได้กล่าวไว้ว่าปัจจัยที่เกี่ยวกับอาการล้าทั้งหมดที่กล่าวมาในตอนนี้ (หรืออาจมีสาเหตุที่มากกว่านี้) ได้ถูกส่งข้อมูลไปรายงานสมองผ่านทางกระแสประสาท ซึ่งจะตอบสนองโดยการยับยั้งการกระตุ้นการสั่งการจากสมองส่วนกลาง (เช่น สมองจะกระตุ้นกล้ามเนื้อน้อยลง) การศึกษาในปี 2013 จากมหาวิทยาลัยแห่งยูทาห์ได้ทำการศึกษาในอาสาสมัคร 8 คนที่ทำการออกกำลังในท่าเตะขาเหยียดเข่าไปจนกว่าจะหมดแรง โดยทำการทดสอบขาแต่ละข้างคนละวัน ทั้งสองขารายงานผลของแรงที่เท่ากัน แต่เมื่อขาได้รับการทดสอบต่อกันเลยในวันเวลาเดียวกัน กลับพบว่าเวลาที่ขาข้างที่ถูกทดสอบทีหลังมีแรงน้อยกว่าขาที่ถูกทดสอบก่อนถึง 50% ค่ะ นักวิจัยจึงสรุปว่า การป้อนข้อมูลย้อนกลับสู่สมองจากขาข้างแรกได้ไปยับยั้งสมรรถนะของขาข้างที่สอง

55 - 2 สาเหตุอาการล้า 7

สาเหตุที่ 12: การสั่งการจากสมองส่วนกลาง

ทฤษฎีการสั่งการจากสมองส่วนกลางที่นำเสนอโดยด็อกเตอร์ทิโมธี โน๊คส์ (Dr.Timothy Noakes) ได้เปลี่ยนแนวความคิดของนักวิ่ง โค้ช และนักสรีระวิทยาเกี่ยวกับอาการล้าไปเลย การอธิบายทฤษฎีในวารสารปี 2012 ที่โน๊คส์เขียนไว้ว่า “ทฤษฎีการสั่งการจากสมองส่วนกลางต่อการปรับตัวจากการออกกำลังกายคือสมองได้ปรับสมรรถนะการออกกำลังกายโดยปรับเปลี่ยนจำนวนหน่วยยนต์ที่ถูกระดมพลให้มาทำงานอย่างต่อเนื่อง โดยปรับหน่วยยนต์ที่บริเวณแขนขาที่ออกแรงอยู่ตลอดเวลา” และสมองก็ไม่ได้ทำอย่างนี้แค่เพื่อเป็นการตอบสนองอย่างเดียว (เหมือนกับการตอบสนองต่อข้อมูลที่ถูกป้อนย้อนกลับสู่สมอง) แต่สมองส่วนกลางกลับได้เตรียมการป้องกันอันตรายไว้ล่วงหน้าและเลือกทำสิ่งที่ปลอดภัยไว้ก่อนเพื่อป้องกันอันตราย ในช่วงแรกของการวิ่ง สมองส่วนกลางจะจดจำความเร็วและความหนักในช่วง 2 – 3 วินาทีแรกของเพื่อนๆไว้ก่อน และพิจารณาสถานะอารมณ์ของเพื่อนๆ รวมไปถึงแรงจูงใจ ประสบการณ์ ระดับของสารสื่อประสาท อุณหภูมิร่างกาย และอื่นๆ เมื่อการวิ่งนั้นยังอยู่ในลู่ทางที่รับได้ สมองส่วนกลางจะปรับสมรรถนะให้อย่างต่อเนื่อง โดยดูข้อมูลจากระดับออกซิเจนในกระแสเลือด และในสมอง ระดับไกลโคเจน ระดับน้ำในร่างกาย และปัจจัยอื่นๆที่ท้ายที่สุดแล้ว สามารถพิสูจน์ได้ว่าอันตรายต่ออวัยวะสำคัญ

“มีสภาวะสมดุลในร่างกายมากมายนับไม่ถ้วนที่ร่างกายต้องปรับ” ด็อกเตอร์ทัคเกอร์ (Dr.Tucker) เขียนไว้ในบล็อค Science of Sport ปี 2011 เขาได้อธิบายทฤษฎีหลักของเขาไว้ว่า “ทั้งหมดนี้จะถูกจับตาดูและปรับเปลี่ยนโดยสมอง แล้วสมองจึงจะควบคุมโดยการเปลี่ยนแปลงความหนักของการออกกำลังกายให้อีกที และนั่นคือ สิ่งที่อยู่ในกะโหลกแข็งๆ จะทำได้ และมันคือทฤษฎีสมองส่วนกลาง”

โน๊คส์ได้แย้งว่าอาการล้านั้นคือ “สิ่งที่สมองของนักกีฬาแต่ละคนสร้างขึ้นมาเองล้วนๆ เหมือนกับเป็นภาพหลอนของแต่ละคน” สำหรับโน๊คส์ ภาพหลอนของอาการล้านั้นมีตัวตนเพียงแค่ช่วยป้องกันนักกีฬาจากความเสี่ยงที่ทำให้เกิดการล้มเหลวทางการทำงานของร่างกาย ผู้ที่ชนะการแข่งขันวิ่งคือนักกีฬาที่สามารถเพิกเฉยต่อภาพหลอนได้ดีที่สุด ส่วนนักกีฬาคนอื่นๆยอมรับภาพหลอนนั้น และพ่ายแพ้ไปค่ะ

หมดแล้วนะคะ สำหรับสาเหตุของอาการล้าเท่าที่พอจะรวบรวมได้ ไม่ว่าอาการล้าจะเกิดมาจากอะไร แต่ก็ทำให้เราไม่อยากจะออกแรงกันใช่ไหมคะ ถ้าอย่างนั้น เราจึงควรเลือกโปรแกรมการฝึกซ้อมที่เหมาะสมกับร่างกายของเรากันดีกว่านะคะ

ขอให้เพื่อนนักวิ่งเอาชนะสาเหตุของอาการล้ากันให้ได้นะคะ

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

%d bloggers like this: