ตุ่มน้ำที่เท้า..เพื่อนสนิทเท้านักวิ่ง

บางครั้งเหล่านักวิ่งอาจมีตุ่มน้ำที่เกิดขึ้นใต้ฝ่าเท้าที่สามารถสร้างความรำคาญและความเจ็บปวดได้ ตุ่มน้ำนี้มักเกิดจากการเสียดสีของผิวหนังชั้นนอกกับถุงเท้าหรือรองเท้า ทำให้ผิวหนังชั้นนอกแยกตัวออกมา และสารน้ำในร่างกายก็เข้ามาเติมเต็มช่องว่างแทน ทำให้เกิดแรงกดและอาการปวดได้ การเสียดสีอาจมากพอที่จะทำให้เส้นเลือดฝอยแตกออกและเกิดตุ่มน้ำที่มีเลือดผสมได้ ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตามที่มีแรงเพียงพอก็ทำให้เกิดการเสียดสีสามารถทำให้เกิดตุ่มน้ำได้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นการวิ่งเร็วขึ้น รองเท้าที่ไม่เข้ากับเท้า และความผิดปกติของเท้า เช่น มีภาวะนิ้วหัวแม่เท้าเอียง หรือมีภาวะกระดูกงอกและเลือดออกที่ส้นเท้า นอกจากนี้ความร้อนและความชื้นจะยิ่งทำให้เกิดแรงต้านมากขึ้นจากการที่เท้าบวมขึ้นนั่นเองค่ะ

นั่นคือเหตุผลว่าทำไมมีแต่นักวิ่งเท่านั้นถึงมีตุ่มน้ำขึ้นที่เท้าระหว่างการแข่งขัน โดยเฉพาะการวิ่งมาราธอน เพราะว่าเพื่อนๆเหงื่อออกมากขึ้น วิ่งเร็วขึ้น และไกลขึ้น เท่านั้นไม่พอ ยังทำน้ำหกใส่เท้าที่โต๊ะให้น้ำ และถ้าบางทีอากาศร้อน เพื่อนๆจะเทน้ำรดหัวตัวเองซะด้วยซ้ำ แล้วน้ำก็จะไหลลงมานองถึงในเท้า

แม้ตุ่มน้ำจะไม่ได้มีบทบาทที่อันตรายต่อสุขภาพร่างกายโดยรวม แต่ก็ควรได้รับการดูแลด้วยความเคารพ ตุ่มน้ำที่ทำให้เกิดอาการปวดอาจทำให้แค่วิ่งไม่ได้ แต่ที่สำคัญกว่านั้น ตุ่มน้ำสามารถติดเชื้อได้ การติดเชื้ออาจเป็นผลมาจากการที่เพื่อนๆเอาเข็มทิ่มเพื่อระบายของเหลวออกจากตุ่มน้ำอย่างไม่ถูกต้องก็ได้ ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม การเกิดตุ่มน้ำสามารถสร้างความรำคาญใจได้ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ดีที่เราจะป้องกันไว้ก่อน เพื่อไม่ให้เป็นจะดีกว่าค่ะ

การป้องกันการเกิดตุ่มน้ำ

  • รักษาเท้าให้ชุ่มชื้น: ผิวหนังที่แห้งมีโอกาสเกิดแรงเสียดสีมากกว่า ให้ใช้ครีมหรือโลชั่นทาทุกวันเพื่อรักษาความชุ่มชื้นของผิวให้ปกติ
  • เลือกใช้ถุงเท้าป้องกันการเกิดตุ่มน้ำ: ถุงเท้าที่ดีจะช่วยรองรับเท้าได้ดี ระบายความชื้นได้เร็ว และสามารถลดแรงเสียดสีให้กับเท้าได้ ถุงเท้าไนล่อน จะดูดน้ำออกจากผิวหนังและระบายความชื้นได้ดี ถุงเท้าคอตต้อนอาจจะเบากว่า แต่จะเก็บน้ำมากกว่า ถุงเท้าที่เสริมใยบริเวณส้นเท้า และนิ้วเท้าช่วยลดแรงเสียดทานได้ เพื่อนๆอาจใส่ถุงเท้าสองชั้นไปเลยก็ได้ แรงเสียดสีจะเกิดขึ้นระหว่างถุงเท้าสองคู่แทนการเสียดสีระหว่างเท้ากับถุงเท้าได้
  • ให้วิ่งด้วยผิวที่ลื่นเป็นมัน: ให้ทาผิวด้วยวาสลีนหรือน้ำมันหล่อลื่นอื่นๆก่อนการวิ่ง หรือจะใช้เทปแปะบนผิวหนังชนิดที่ไม่สามารถลอกออกได้แม้ผิวเปียก ทั้งสองวิธีช่วยสร้างเกราะป้องกันระหว่างผิวหนังกับถุงเท้าได้ เทปแปะผิวหนังมี 2 ชนิดคือ ซิงค์ออกไซด์เทป (Zinc Oxide Tape) มีลักษณะเป็นเทปสีขาวเหนียว ที่ใช้สำหรับการบาดเจ็บทางการกีฬา ถ้าแผลตุ่มน้ำยังไม่หายและแห้งดี ให้ใช้ผ้าก๊อซปิดแผลไว้ แล้วใช้เทปนี้ปิดทับอีกครั้งให้สนิท แต่ถ้าแผลแห้งดีแล้ว สามารถใช้เทปติดทับได้เลย เพื่อนๆอาจใช้ติดบนผิวปกติก็ได้ และให้ติดในที่ที่เห็นว่าจะมีการเสียดสีมากเวลาวิ่ง เทปอีกชนิดหนึ่งคือ คอมพีด บลิสเตอร์ พลาสเตอร์ (Compeed Blister Plaster) ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่า เมื่อติดแล้วสามารถคลอบคลุมพื้นที่ผิวได้กว้างกว่า

เพื่อนๆควรทาวาสลีนให้ทั่วเท้า เน้นบริเวณฝ่าเท้า และฐานนิ้วหัวแม่เท้า และอย่าลืมปลายนิ้วเท้า และร่องระหว่างนิ้วเท้าด้วยนะคะ นักวิ่งบางคนยังทาวาสลีนไว้ด้านนอกถึงเท้า และผนังด้านในรองเท้าเพื่อลดแรงเสียดทานด้วย อาจใช้ผลิตภัณฑ์ชื่อว่า บอดี้ไกลด์ (Body Glide) เป็นตัวช่วยลดแรงเสียดทานด้วยก็ได้ค่ะ

  • ใส่ถุงเท้าและรองเท้าให้พอดีเท้า: รองเท้าที่เล็กเกินไปอาจเป็นสาเหตุของตุ่มน้ำที่ใต้นิ้วเท้าและที่ปลายนิ้วเท้าได้ ควรมีพื้นที่กว้างประมาณนิ้วหัวแม่มือระหว่างปลายนิ้วเท้าและหัวรองเท้า ถุงเท้าควรมีขนาดพอดีกับนิ้วเท้า ไม่มีการทอที่หนาตัวขึ้นบริเวณนิ้วเท้าและส้นเท้า หากเพื่อนๆกลับไปวิ่งด้วยรองเท้าคู่เดิมที่ทำให้เกิดตุ่มน้ำแล้ว ก็เป็นอันแน่นอนว่าเพื่อนๆอาจจะเกิดเป็นตุ่มน้ำได้อีก ให้พยายามหาสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้เกิดตุ่มน้ำดู โดยส่วนใหญ่จะมาจบที่รองเท้าที่สวมใส่ และพื้นผิวที่ใช้วิ่งบ่อยๆ รองเท้าที่ยาวไป สั้นไป กว้างไป หรือแคบไป ล้วนแต่สามารถสร้างแรงเสียดสีให้เกิดขึ้นได้ แม้แต่แผ่นรองฝ่าเท้า หรือรองเท้าที่มีข้อบกพร่องในบางจุด ก็สามารถเกิดการถูกับเท้าได้ การวิ่งขึ้นลงเขาก็เป็นสาเหตุหนึ่งได้เช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อเวลาที่นิ้วเท้าของเพื่อนๆต้องจิกพื้นมากๆ 

การรักษา

แม้ตุ่มน้ำจะไม่ได้สร้างปัญหาร้ายแรงอะไร แต่การละเลยมันก็อาจทำให้เกิดปัญหาใหญ่ขึ้นได้ หากปล่อยให้ตุ่มน้ำแตกเอง โดยไม่ทำอะไรต่อ อาจทำให้มีการติดเชื้อเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือเกิดเป็นเซลล์ลูไลติส (Cellulitis) ที่เป็นภาวะติดเชื้อที่ผิวหนังขั้นรุนแรง และหากยังปล่อยให้เกิดการติดเชื้อต่อไปอีก อาจทำให้เกิดการติดเชื้อเข้าสู่กระแสเลือด ที่เรียกว่า เซปซิส (Sepsis) ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตได้เลย และถ้ายิ่งเป็นในคนที่มีโรคเบาหวานร่วมด้วย ซึ่งมักมีภาวะแผลหายช้า และการติดเชื้อเกิดขึ้นได้ง่าย ยิ่งเสี่ยงต่ออันตราย ดังนั้น วิธีรักษาที่ดีที่สุด คือการป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น

แต่ถ้ามันเกิดไปแล้วล่ะ คำถามเรื่องเจาะน้ำออกหรือไม่เจาะดี ยังเป็นที่ถูกถามอยู่เรื่อยๆค่ะ 

ถ้าเพื่อนๆเป็นตุ่มน้ำขนาดเล็ก ให้ปล่อยไว้อย่างนั้น ผิวหนังจะเป็นเหมือนเกราะป้องกันแผลให้ปลอดเชื้อจากโลกภายนอก มากไปกว่านั้น  สารน้ำยังคงมีสารอาหารที่ช่วยในเรื่องของการหายด้วย หากตุ่มน้ำมีน้ำปริมาณน้อย แล้วเพื่อนๆพยายามที่จะไปเจาะมันออก เพื่อนๆอาจเจอปัญหาที่ใหญ่กว่า เพราะอาจทำให้เลือดออกได้นะคะ หากมีเลือดออกข้างใน ให้ปล่อยไว้อย่างนั้นค่ะ ไม่เช่นนั้นเพื่อนๆจะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อในกระแสเลือดได้ ดังนั้น หากเป็นไปได้ ให้หยุดวิ่ง 2-3 วัน แต่ถ้าทนไม่ได้ที่จะต้องหยุด ลองทำตามวิธีด้านล่างดูค่ะ

หากตุ่มน้ำมีขนาดใหญ่ให้เจาะระบายออก หากไม่เจาะระบายออกอาจทำให้เจ็บมากขึ้นได้ และเมื่อถึงจุดหนึ่ง มันจะแตกออกเอง

  1. ล้างมือด้วยน้ำเปล่าและสบู่
  2. ทำความสะอาดตุ่มน้ำด้วยไม้พันสำลีชุบแอลกอฮอล์ หรือไอโอดีน
  3. ทำความสะอาดเข็มเล็กๆ หรือตะขอปลายเล็กด้วยไม้พันสำลีชุบแอลกอฮอล์ อย่าเอาเข็มไปลนไฟ เพราะจะมีคาร์บอนติดมาด้วย ทำให้คาร์บอนไปติดที่ผิวหนัง และระคายเคืองต่อแผล
  4. หายใจลึกๆ ตั้งสติดีๆ อย่าจิ้มเข็มโดนเนื้อตัวเองนะคะ
  5. เจาะรูหลายๆรูตามขอบของตุ่มน้ำ ใช้สำลีหรือผ้าก๊อซที่สะอาดซับน้ำออก
  6. ทายาฆ่าเชื้อ แล้วปิดด้วยผ้าก๊อซแล้วติดเทปเหนียวปิดแผลให้มิด ป้องกันแบคทีเรียเข้าไป และเพื่อป้องกันการระคายเคืองตอนวิ่งครั้งต่อไป
  7. รอ 2-3 วัน แล้วจึงตัดหนังตายออก อาจใช้กรรไกรหรือกรรไกรตัดเล็บตัดหนังออก ฆ่าเชื้อด้วยไม้พันสำลีชุบแอลกอฮอล์
  8. ทำซ้ำข้อ 6-7 จนกว่าแผลจะหาย

นอกจากนี้ ให้เพื่อนๆลองปรับตารางซ้อมวิ่งให้วิ่งห่างออกไปหน่อยนะคะ รอให้ตุ่มน้ำหายก่อน ซึ่งจะใช้เวลาไม่นาน แล้วค่อยกลับมาวิ่งใหม่ค่ะ

หากมีตุ่มน้ำที่อยู่ใต้เล็บควรได้รับการรักษาด้วยแพทย์เท่านั้น ไม่อย่างนั้น เพื่อนๆอาจถูกถอดเล็บออกได้นะคะ

เป็นอย่างไรคะ การเกิดตุ่มน้ำไม่น่ากลัวอย่างที่คิด แต่ก็แอบนิ่งนอนใจไม่ได้นะคะ  ขอให้เพื่อนนักวิ่งมีเท้าที่ปราศจากตุ่มน้ำกันนะคะ

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

%d bloggers like this: