Explore the Knowledge for Runner
จากที่วิ่งมานานประมาณ 4 ปี ได้เข้าร่วมงานวิ่งปีละไม่ต่ำกว่า 15 งาน ได้รับทั้งประสบการณ์ทั้งดีและแย่ ดีก็เรียกได้ว่าไม่มีที่ติ แย่ก็เรียกได้ว่าแทบจะเอาชีวิตไม่รอด เราเลยลองรวบรวมหัวข้อสำคัญๆที่จะให้เพื่อนๆนักวิ่งหน้าใหม่ใช้เป็นแนวทางในการเลือกลงสมัครงานวิ่งกันนะคะ ทั้งนี้ทั้งนั้น คงต้องยืนอยู่บนพื้นฐานที่ว่า มาตรฐานในการจัดงานวิ่งบ้านเรายังไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน จึงเป็นการยากที่จะบอกว่าสิ่งที่เราสรุปมาเล่านี้จะเป็นมาตรฐานระดับโลกหรือเปล่า อันนี้ขอบอกไว้ก่อนว่า มาจากประสบการณ์ล้วนๆนะคะ
1. ดูผู้จัดสักหน่อย
ดูว่าเป็นงานที่ผู้จัดจัดกันเอง หรือจ้างทีมจัดมืออาชีพ อันนี้ค่อนข้างสำคัญค่ะ ค่อนข้างเป็นตัวบอกลักษณะงานเลยค่ะ ถ้าจัดกันเอง และมือใหม่จัดครั้งแรก เราคงไม่สามารถคาดหวังความสมบูรณ์แบบได้เลยค่ะ แต่ก็เคยเจองานที่จัดกันเอง แต่สมบูรณ์แบบมาแล้ว อาจเพราะเคยจัดมานานหลายปีแล้วนั่นเอง ดังนั้นถ้าเจอผู้จัด จัดกันเอง ครั้งแรก และเป็นอาสาสมัครล่ะก็ ให้ทำใจไว้ส่วนหนึ่งเลยค่ะ ส่วนการจ้างทีมจัดมืออาชีพ ก็เป็นอันแน่นอนว่าเราจะได้ความเป็นมืออาชีพ เช่น เส้นทางวิ่งที่ปิดอย่างเป็นระบบ คนยืนคุมทางมีมากเพียงพอ และมีประสบการณ์ในการจัดการจราจรให้กับนักวิ่ง อุปกรณ์ต่างๆ ณ จุดปล่อยตัวและเส้นชัยเชื่อถือได้ มีกรวยมากเพียงพอในการกั้นทาง และรายละเอียดอื่นๆอีกมากมายที่ผู้ที่จัดกันเอง และไม่มีประสบการณ์อาจจะคาดไม่ถึง โดยเฉพาะผู้จัดมือใหม่ที่ไม่ใช่นักวิ่ง จะไม่สามารถรู้ใจนักวิ่งได้เลยค่ะ ทำให้ขาดรายละเอียดเล็กๆน้อยๆที่จำเป็นสำหรับนักวิ่งไป เช่น น้ำดื่มไม่เพียงพอ หรือการนำน้ำเกลือแร่มีก๊าซมาแจกแทนน้ำเปล่า เป็นต้น
2. ดูจำนวนครั้งที่จัดมาแล้วของผู้จัด
ประสบการณ์ของผู้จัดงานก็เป็นส่วนสำคัญในการจัดค่ะ แต่ก็ต้องลองๆเป็นงานๆไปนะคะ บางงานใหญ่โตเรียกว่าระดับประเทศ รับคนเป็นหมื่นๆ แต่แป๊กกับเรื่องระยะทางที่ผิด หรือทางวิ่งที่ไม่พอกับนักวิ่งที่จำนวนมาก และอื่นๆก็มีให้เห็น เรียกได้ว่า ต้องดูว่า แม้จัดมาหลายปีจริง ผู้จัดได้พยายามนำข้อบกพร่องของงานตนเองในปีก่อนหน้ามาปรับปรุงแก้ไขจริงจังจนเห็นผลในปีต่อไปหรือเปล่าค่ะ งานเล็กๆบางงาน จัดแค่ 3 ปี ก็ดูดีเป็นมืออาชีพแล้วก็มีค่ะ
3. ดูสปอนเซอร์
มีสปอนเซอร์บ้างก็ดี ไม่สามารถบอกได้นะคะว่า ยิ่งมากยิ่งดี บางงานมากก็จริง แต่ไม่มีคุณภาพ เอาแต่จะยัดเยียดของที่ไม่เหมาะกับนักวิ่งให้ เช่น งานหนึ่ง ไม่มีน้ำเปล่าให้ดื่มระหว่างทางมีแต่น้ำเกลือแร่อัดโซดาให้ดื่ม เด็กๆยังรู้เลยว่ามันไม่เหมาะกับการวิ่ง บางงานเหมือนสปอนเซอร์น้อย แต่มีคุณภาพ เช่น ร้านอาหารที่มาแจกอาหาร ได้ปริมาณมาก อร่อย และเพียงพอต่อนักวิ่ง เป็นต้น สปอนเซอร์มากๆ และหลากหลายก็ดีอยู่นะคะ เป็นสีสันให้กับงาน ส่วนใหญ่แจกของฟรี เพื่อนๆอาจต้องเตรียมกระเป๋าหรือถุงไปเก็บกลับบ้านได้ แต่ระวังจะตกเป็นทาสการตลาดนะคะ เช่น น้ำเกลือแร่บางชนิดก็ไม่ได้มีความจำเป็นมากไปกว่าน้ำเปล่าค่ะ เดี๋ยวจะกลายเป็นวิ่งไปไม่คุ้มกับที่ดื่มเพิ่มเข้าไปค่ะ และอย่าลืมว่า เก็บกลับบ้านแต่พองาม เผื่อไว้ให้เพื่อนๆนักวิ่งแนวหลังด้วยนะคะ มาวิ่งด้วยกัน อยากให้ได้ของกลับบ้านไปด้วยกันค่ะ อีกอย่างนะคะ สปอนเซอร์มากๆ อาจหมายความได้ว่า ผู้จัดจะมีเงินที่มากเพียงพอในการใช้จ่ายเพื่อให้ได้มาตรฐานงานวิ่งที่ปลอดภัยค่ะ (ถ้าผู้จัดไม่ตระหนี่จนเกินไปนะคะ) แม้หลังหักค่าใช้จ่ายแล้วนำไปบริจาคเพื่อสาธารณกุศลบางส่วนหรือทั้งหมดก็ตามค่ะ
4. ดูเส้นทางวิ่ง
เพื่อนๆควรพิจารณาเส้นทางวิ่งก่อนนะคะว่าใช่ทางที่เราอยากจะไปเสี่ยงภัยหรือเปล่า ที่บอกเช่นนี้ก็เพราะว่า ในบ้านเรา ประชาชนชาวไทยยังไม่คุ้นชินกับภาพนักวิ่งวิ่งกันเป็นทิวแถวบนท้องถนนสักเท่าไร แถมมาปิดเส้นทางที่ใช้ในการเดินทางประจำวัน สร้างความเดือดร้อนให้อีก ก็คงเป็นธรรมดาที่จะหงุดหงิด โมโห และแสดงความแล้งน้ำใจกันได้โดยง่าย อันนี้เราก็คงจะห้ามใครไม่ให้เป็นไม่ได้ เอาเป็นว่าเราเองที่เป็นนักวิ่ง คงต้องพิจารณาเอาเองแล้วล่ะค่ะว่า เราจะวิ่งเส้นทางไหนดี มีให้เลือกหลากหลายแบบนะคะ มาพิจารณากันเป็นแห่งๆไปค่ะ
4.1 เส้นทางบนถนนในเมืองที่ไม่สามารถปิดการจราจรได้ 100%
อันนี้เรียกได้ว่ามีความเสี่ยง 100% เช่นกันค่ะ เท่าที่เคยสังเกตมา งานส่วนใหญ่จะจัดให้วิ่งชิดซ้าย และวิ่งเป็นวงกลมวนซ้ายค่ะ ถ้าจะมีให้กลับตัว หรือข้ามแยกก็คงมีบ้าง เลี่ยงไม่พ้นที่จะต้องหยุดรถ สลับกับหยุดนักวิ่งค่ะ มีงานที่จัดวนขวาบ้าง แต่ก็ไม่มากค่ะ แถมมีบางงานจัดวนขวา แต่ตั้งโต๊ะให้น้ำอยู่ฟุตบาทซ้ายค่ะ เรียกว่า นักวิ่งต้องวิ่งตัดเลนรถประมาณ 4 เลน เพื่อไปรับน้ำค่ะ อันตรายมาก งานนั้นเห็นฝรั่งโดนรถเมล์ชนด้วยค่ะ เพราะต้องวิ่งตัดเลนรถเพื่อขึ้นสะพานข้ามแยกที่เจ้าหน้าที่ไม่ได้ปิดถนนให้ค่ะ ดีที่นักวิ่งท่านนั้นไม่ได้เป็นอะไรมากค่ะ
โดยส่วนใหญ่งานวิ่งจะปิดถนน 1 เลนค่ะ และมักเป็นเลนซ้ายดังที่บอกไปแล้ว บ้านเราเลนซ้ายสุดก็เป็นเลนสำหรับรถช้าด้วย แต่ก็จะมีตรอกซอกซอยที่รถจำเป็นจะต้องเข้าหรือออก อันนี้เราก็ต้องดูให้ดีนะคะ งานวิ่งดีๆจะมีเจ้าหน้าที่ยืนเฝ้าให้ บางงานตรอกเยอะกว่าจำนวนเจ้าหน้าที่ก็ต้องตัดสินใจกันเอาเองค่ะว่าจะหยุดรอรถไปหรือเปล่าค่ะ
และเท่าที่สังเกตอีกเช่นกัน งานที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาโบกรถให้ หรือกั้นทางให้ จะดีกว่างานที่เจ้าหน้าที่ผู้จัดงานยืนกันเอง เพราะคนเราก็ยังรู้สึกเชื่อตำรวจจราจรมากกว่าค่ะ เห็นมีงานหนึ่งเอาเจ้าหน้าที่ร่วมกตัญญูมาช่วยยืนโบก รถไม่สนใจเลยค่ะ เรียกว่าจะชนทั้งคนวิ่ง และคนโบกเลยล่ะค่ะ พักหลังๆเราเองเลยไม่ค่อยลงงานวิ่งที่อยู่ในเมืองกรุงสักเท่าไหร่ เพราะถึงจะปล่อยตัวเช้าขึ้นขนาดไหน หรือแม้จะเป็นวันอาทิตย์ ปริมาณรถก็ยังหนาแน่นค่ะ ส่วนใหญ่จะไปลงสมัครวิ่งที่จัดในสวนสาธารณะแทน เพราะรู้สึกปลอดภัยกว่า แต่บรรยากาศก็จะไม่เหมือนกันนะคะ และวิ่งในสวนยังพื้นที่เล็กกว่าด้วยค่ะ
เพิ่มเติมอีกนิดสำหรับเส้นทางวิ่งในเมือง นั่นก็คือ ถนนบางสายสกปรกมากค่ะ น้ำขยะเจิ่งนอง ส่งกลิ่นเหม็น วิ่งใต้ทางรถไฟฟ้า หรือสถานีรถไฟฟ้าก็จะอับชื้น อย่างนี้เราก็จะเลี่ยงค่ะ วิ่งทั้งทีก็อยากจะดีต่อสุขภาพนิดนึงค่ะ
4.2 เส้นทางบนถนนในเมืองที่สามารถปิดการจราจรได้ 100%
ยังมีบางงานที่สามารถจัดแบบปิดการจราจรได้ 100% นะคะ โดยเฉพาะงานที่จัดที่สะพานพระราม 8 ค่ะ เพราะสามารถปิดถนนฝั่งขาออกนอกเมืองได้ทั้งเส้น ถนนกว้างขวางมาก สามารถทำเป็นสองเลนให้นักวิ่งวิ่งไป และกลับตัวสวนกลับมาได้สบายๆ แต่ก็ยังมีข้อจำกัดในเรื่องจำนวนคนนะคะ เคยมีงานที่รับคนจำนวนมากเกินไป ก็ไปแออัดกันอยู่ข้างบนได้ โดยไม่มีทางหนีไปไหนได้เลยค่ะ
หรืออย่างงานไบเทคบางนา ก็สามารถปิดถนนได้ 100% ซึ่งก็คือถนนบางนาตราดค่ะ ส่วนตัวยังไม่เคยไป แต่เพื่อนเคยไปแล้วเค้าบอกว่าวิ่งสบายมาก แต่เนื่องจากข้างบนศีรษะเป็นทางด่วนพิเศษ และรับนักวิ่งจำนวนมาก ทำให้การระบายอากาศไม่ค่อยดี รู้สึกร้อนอบอ้าวได้ค่ะ
งานวิ่งในเมืองกรุง หาได้ยากมากที่จะปิดถนน 100% นะคะ เรียกว่าถ้าวิ่งใจกลางเมือง อย่าง ถนนสีลม สาทร ราชดำริ สุขุมวิท พระราม 4 นี่ เลิกคิดถึงการปิดการจราจรได้เลยค่ะ แถมรถจะเยอะมากอีกต่างหากค่ะ
อีกกรณีที่จะได้เจอการปิดถนน 100% ก็คืองานที่พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภามาร่วมวิ่งด้วยค่ะ ทางผู้จัดงานมักจะปิดถนน 100% ซึ่งส่วนตัวเราจะชอบมากค่ะ เพราะวิ่งตามหลังท่านนี่สบายใจสุดๆค่ะ
4.3 เส้นทางวิ่งในสวนสาธารณะ
เส้นทางวิ่งนี้แล้วแต่สวนนะคะ ส่วนใหญ่ก็จะจัดกันที่สวนใหญ่ๆ อย่างสวนลุม สวนรถไฟ สวนหลวง ร.9 ค่ะ ส่วนสวนอื่นๆออกจะเล็กไปที่จะจัด เนื่องจากระยะ 1 รอบสั้น และไม่มีลานกว้างเป็นพื้นที่จัดงานค่ะ เจอบ้างก็สวนจตุจักร แต่จะรับคนได้ไม่เยอะ เพราะทางแคบหรือสวนเบญกิติ ก็เคยเจอจัดระยะฟันรันค่ะ
วิ่งในสวนข้อดีคือ ไม่ต้องหลบรถ แต่ข้อเสียคือต้องหลบคนค่ะ ถ้าผู้จัดบริหารจำนวนคนไม่ดี คนก็จะล้น แล้วต้องวิ่งเบียดกันค่ะ และอาจทำให้คนที่เค้ามาวิ่งที่สวนประจำเดือดร้อนได้ค่ะ
4.4 เส้นทางวิ่งในเมืองต่างจังหวัด
อันนี้อาจจะไม่ค่อยแตกต่างจากวิ่งในเมืองกรุงเท่าไหร่ในเรื่องของการจัดการจราจร และแม้ถนนหนทางในเมืองบางทีก็จะเล็กกว่าในกรุง หากไม่ใช่ทางหลักทางหลวง แต่รถก็จะน้อยกว่าไปด้วย ก็จะพอบริหารจัดการได้บ้าง ส่วนทางหลักทางหลวงนี่ สบายเลย ทางกว้างขวาง แต่ๆๆๆ เคยเจอเหมือนกันที่ทางหลวงนั้น รถวิ่งเร็วมาก โดยเฉพาะเมื่อเราวิ่งซ้ายและมีรถบรรทุกวิ่งมาทางเลนซ้ายนี่ ต้องหยุดวิ่งและหลบข้างทางเลยล่ะค่ะ แต่โดยรวมแล้ว อากาศจะปลอดโปร่งกว่าในกรุงมากมายค่ะ
4.5 เส้นทางวิ่งนอกเมืองต่างจังหวัด
เส้นทางแบบนี้อาจมีขึ้นเนินลงเนินบ้าง เข้าทุ่งเข้าป่าบ้าง ไม่ถึงกับเทรล แต่ก็ทำให้พอมีรสชาติการผจญภัยค่ะ เส้นทางวิ่งจะมีรถน้อย วิ่งสบาย อากาศดี แต่เพื่อนๆอาจจะต้องเผื่อแรงร่างกายสำหรับเรื่องเนินค่ะ งานที่ดีมากๆจะบอกเส้นทางชัดเจนค่ะ บางงานบอกถึงความชันในเส้นทางวิ่งทั้งหมดเลยค่ะ ว่าชันตรงไหน มากน้อยขนาดไหนค่ะ
เส้นทางวิ่งนี่มีความสำคัญมากต่อการเลือกลงสมัครงานวิ่งของเราค่ะ แม้หลังๆจะยอมวิ่งในที่ไม่ชอบเพราะเหรียญสวยก็เถอะค่ะ แหะ แหะ เพื่อนๆเองก็ต้องศึกษาเส้นทางวิ่งให้ดีก่อนไปวิ่งนะคะ ให้เพื่อนๆเข้าไปหน้าเวปไซท์ หรือเฟสบุ๊ค ของงานและดูรายละเอียดเลยค่ะ ถ้าไม่มีรายละเอียดให้ดู อาจลองถามเพื่อนๆที่เคยไปวิ่งมาแล้วเมื่อปีก่อนๆดูค่ะ หรือจะโทรไปถามเจ้าหน้าที่เองเลยก็คงจะไม่ว่ากัน โดยเฉพาะเพื่อนๆที่ลงระยะไกลๆแบบฮาล์ฟหรือฟูลมาราธอนเอาไว้ค่ะ อยากให้เตรียมพร้อมกันสักนิดนะคะ เพื่อความปลอดภัยของตัวเพื่อนๆเองนะคะ
5. ดูวิธีการรับสมัคร การแจ้งชำระเงิน และการติดต่อเจ้าหน้าที่ได้ก่อนเริ่มงาน
วิธีการรับสมัครก็หลากหลายนะคะ ทั้งสมัครออนไลน์ สมัครทางอีเมล สมัครด้วยตนเอง แต่ส่วนใหญ่เดี๋ยวนี้เป็นสมัครออนไลน์แล้วค่ะ บางงานมีการตั้งโต๊ะรับสมัครในงานวิ่งอื่น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทผู้จัดเดียวกัน แบบนั้นก็ดีหน่อย เพราะสมัครแล้วมักจะได้เสื้อและบิบเลย ไม่ต้องเสียเวลาไปรับเอง หรือเสียเงินให้ส่งไปรษณีย์ค่ะ
ส่วนการสมัครออนไลน์ ให้ดูความลื่นไหลของโปรแกรมที่เราเข้าไปกรอกข้อความค่ะ ถ้ามีเมลตอบกลับอัตโนมัติ หรือมีข้อความแจ้งว่าเสร็จสิ้นแล้ว หรือให้รหัสการรับสมัครมาแล้ว ค่อนข้างมั่นใจได้ค่ะว่าทางผู้จัดได้รับเรียบร้อยแล้ว ให้เพื่อนๆถ่ายรูปหน้าจอเอาไว้เป็นหลักฐานค่ะ แต่หากเป็นการสมัครลักษณะอื่น ก็ลองดูว่ามีอีเมลตอบกลับจากเจ้าหน้าที่หรือเปล่าค่ะ พยายามถามหาข้อความลักษณะว่าได้รับเงินที่เราโอนเรียบร้อยแล้ว และเก็บไว้เป็นหลักฐานค่ะ หากสมัครแล้วภายใน 2-3 วันทำการ และไม่มีอีเมลตอบรับหรือยืนยัน อยากให้เพื่อนๆลองติดต่อเจ้าหน้าที่อีกทีนะคะ ถ้าเป็นผู้จัดที่จ้าง organizer มักจะไม่ค่อยพลาดค่ะ ถ้าพลาดก็จะตรวจสอบได้อย่างรวดเร็วค่ะ แต่ถ้าเจอผู้จัดที่จัดเอง ก็อาจต้องรอนานหน่อย หากเป็นองค์กรที่ไม่เคยจัดมาก่อน ก็อย่าคาดหวังสูงค่ะ และยิ่งถ้าเป็นผู้จัดจากองค์กรการกุศลทั้งหลายที่มักจะเป็นอาสาสมัครมาช่วยทำ งานหลักอาจทำให้เจ้าหน้าที่ตอบช้า ก็อยากให้ใจเย็นๆนะคะ เคยเจองานที่ต้องแจ้งชำระเงินทางไลน์ที่เจ้าหน้าที่สร้างกลุ่มนักวิ่งที่สมัครขึ้นมา แต่เจ้าหน้าที่ตอบช้าเกิน 3-4 วัน แต่มาตอบแน่ๆ อย่างนี้ก็มีค่ะ (และกลายเป็นว่าเพื่อนนักวิ่งในกลุ่มนั่นเอง ช่วยเจ้าหน้าที่ตอบคำถามเกี่ยวกับงานวิ่งแทนเจ้าหน้าที่ด้วยซ้ำค่ะ ซึ่งกลายเป็นเรื่องดีไปนะคะ ทำให้เรารู้สึกได้ว่า สังคมนักวิ่งน่ารักค่ะ) แต่หากหลายวันแล้ว ติดต่อเจ้าหน้าที่ไม่ได้ ให้หาเพื่อนที่สมัครด้วยกัน รวมกลุ่มตรวจสอบนิดหนึ่งนะคะ เคยมีกรณีต้องแจ้งความจับคนที่มาเปิดรับสมัครงานวิ่งลอยๆ พอได้เงินก็เชิดหนีไปค่ะ
6. ดูจุดให้น้ำ และห้องน้ำ
ตามมาตรฐานทั่วไปก็ควรมีทุก 2 กิโลเมตรค่ะสำหรับจุดให้น้ำ แต่สำหรับห้องน้ำเคลื่อนที่ ถ้าจะให้สมบูรณ์แบบเลย คงหนีไม่พ้นทุก 2 กิโลเมตรเช่นกันค่ะ เคยเจอบางงาน เป็นสุขาติดแอร์ แถมเปิดเพลง Blossom แบบว่าตอนนั้นปลดทุกข์แล้วฟินจนไม่อยากออกไปวิ่งต่อเลยล่ะค่ะ ส่วนงานที่จัดในสวน หากรอบสวนพอดี 2.5 กิโลเมตร ก็ควรมีจุดให้น้ำอย่างน้อย 2 จุดค่ะ เคยเจอบางงานตั้งจุดเดียว แล้วอากาศร้อนอบอ้าวมาก เรียกว่าคอแทบแห้งกว่าจะวิ่งถึงจุดให้น้ำค่ะ ถ้าวิ่งในสวนก็คงไม่ต้องห่วงห้องน้ำกันมาก เพราะมีอยู่รอบสวน เลือกเข้าได้ตามใจชอบ แต่เรื่องความสะอาดคงแล้วแต่ดวงนะคะ
7. ดูการจัดการรายชื่อ เสื้อ และเบอร์นักวิ่งว่าเป็นระบบหรือไม่
กรณีนี้เราจะดูว่ามีความรวดเร็วในการรวบรวมและประมวลผลข้อมูลนักวิ่งเพื่อเตรียมเสื้อและบิบได้เพียงพอกับจำนวนนักวิ่ง และถูกต้องไหมค่ะ เพราะสามารถแสดงถึงความเป็นมืออาชีพได้ดีค่ะ เคยเจองานเสื้อผิดไซส์ ไม่มีชื่อ บิบไม่พอ รอรับบิบนาน มาแล้วค่ะ หรือพอได้ไม่ถูกต้องตามที่เราต้องการ สามารถแก้ไขให้ทันวันงานหรือไม่ค่ะ บางงานแก้ไขไม่ทัน ก็ลอยแพนักวิ่งซะดื้อๆก็มีค่ะ
8. ดูจำนวนนักวิ่งที่รับสมัครกับสถานที่
งานวิ่งดีๆจะระบุเลยค่ะว่า รับจำนวนนักวิ่งกี่คน อันนี้เพื่อนๆอาจต้องใช้ประสบการณ์ไปหลายๆสนาม ก็จะพอรู้ค่ะว่า สนามวิ่งแห่งนั้น ที่จัดงานกันเป็นประจำนั้น เหมาะกับจำนวนคนประมาณไหนค่ะ เคยเจองานระดับประเทศ รับคนเยอะหลายหมื่นจนถนนไม่พอให้วิ่ง นักวิ่งต้องเดินค่ะ อันนี้เราว่าไม่โอเคอย่างยิ่งค่ะ หรืออย่างงานที่จัดในสวนสาธารณะขนาดเล็ก จำนวนนักวิ่งก็ควรเป็นหลักร้อยค่ะ ไม่ใช่หลักพันค่ะ
9. ดูที่จอดรถ
หลายคนสมัครวิ่งไกลจากบ้านมาก บางทีก็ต่างจังหวัดเลย พาหนะที่ใช้กันเยอะคือรถยนต์ค่ะ เพื่อนๆลองดูด้วยนะคะว่าที่จอดรถบริเวณงานเพียงพอหรือไม่กับจำนวนนักวิ่งค่ะ คืออย่างน้อยก็ควรเป็นสัดส่วนเดียวกันกับจำนวนนักวิ่งค่ะ ไม่ใช่รับเป็นหมื่น มีที่จอดหลักร้อย แต่บางงานก็จะแจ้งเลยว่ามีที่จอดจำกัด นักวิ่งควรเดินทางมาด้วยรถสาธารณะ หรือบางงานถ้าจัดที่จอดรถไกลจากบริเวณจัดงานก็จะจัดรถรับส่งนักวิ่งจากที่จอดรถไปกลับบริเวณงานค่ะ พอบ้างไม่พอบ้าง แล้วแต่ความสามารถของผู้จัดจะจัดการให้ค่ะ งานระดับประเทศหลายงานถือว่าทำได้ดีค่ะ บางงานมีที่จอดมากมายเหลือเฟือ อันนี้คงต้องขึ้นอยู่กับสถานที่จัดงานด้วยค่ะ แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ทางผู้จัดควรแจ้งล่วงหน้าทุกครั้งค่ะ
10. ช่วยกันติชมผู้จัดแต่ละงาน เพื่อสร้างมาตรฐานที่ดีของงานวิ่งค่ะ
เจองานวิ่งแย่ๆ อยากให้ช่วยกันติอย่างสร้างสรรค์ เจองานวิ่งดีๆ อยากให้ช่วยกันชม จะได้ให้ผู้จัดรู้ว่าอะไรควรทำต่อ อะไรควรยกเลิกไปค่ะ อย่างไรก็ตาม บ้านเรายังไม่มีมาตรฐานการจัดงานวิ่งอย่างจริงจัง มีผู้จัดบางราย ได้ระบุชัดเจนว่าใช้มาตรฐานการแข่งขันของใคร แต่ยังไงก็ยังไม่ได้นำมาใช้ในทุกงานค่ะ อยากให้ทางผู้หลักผู้ใหญ่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องการจัดงานวิ่ง ช่วยกันสร้างมาตรฐานงานวิ่งให้เกิดในบ้านเราเถอะค่ะ อาจแบ่งเป็นงานระดับเล็กไม่กี่ร้อยคน งานระดับกลางหลักพันคน และระดับใหญ่หลักหมื่นคนขึ้นไปขอให้มีมาตรฐานการจัดการทั้งเรื่องเส้นทางวิ่งและพื้นที่จัดงานให้เหมาะสมกับจำนวนคน น้ำดื่มให้เพียงพอ และมีระยะแน่นอนอาหารที่เหมาะสมกับนักวิ่ง ไม่ว่าจะเป็นนักวิ่งระยะมินิ หรือนักวิ่งมาราธอน และสิ่งอำนวยความสะดวกให้เหมาะสมกับขนาดงานค่ะ ซึ่งรายละเอียดทั้งหมดนี้ควรปรับมาจากมาตรฐานโลกรวมกับคำเสนอแนะของนักวิ่งท้องถิ่น เพื่อการปรับใช้ที่เหมาะสมกันต่อไปค่ะ
เพราะงานวิ่งในบ้านเรามีเยอะขึ้นมากจริงๆ และจัดโดยผู้จัดที่หลากหลาย ทั้งรู้งานและไม่รู้งาน รู้งานก็หาที่ติไม่ได้ ไม่รู้งานจนบางครั้งก็ทำให้เกิดโศกนาฏกรรมทางร่างกายกับเพื่อนนักวิ่ง ระหว่างรอมาตรฐานเหล่านั้น นักวิ่งอย่างพวกเราก็คงต้องใช้สติเลือกให้ดีก่อนจะเสียสตางค์ไป เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียสติกันทีหลังนะคะ
ขอให้เพื่อนนักวิ่งมีงานวิ่งดีๆให้ไปวิ่งกันได้เรื่อยๆนะคะ
Recent Comments