Explore the Knowledge for Runner
ในที่สุดก็มาถึงวันแห่งการรอคอยที่ยาวนาน หลังจากที่สมัครงานมาราธอนของนาวิกโยธินแล้วต้องลดระยะเหลือฮาล์ฟ เพราะเกิดเจ็บ ITB ทำให้ซ้อมไม่ทัน เรายังไม่หมดหวังกับมาราธอนภายในปีนี้ตามที่ตั้งใจไว้ จึงลงงานล้านนามาราธอนในวันที่ 19 พ.ย. 60 เอาไว้ และเริ่มต้นเข้าโปรแกรมซ้อมสำหรับนักวิ่งเริ่มต้นเป็นเวลานาน 6 เดือน
ระหว่างโปรแกรมซัอม ป่วยหนักเข้าโรงพยาบาลไป 2 ครั้ง ผ่าตัดเล็ก 1 ครั้ง แต่ละครั้งต้องพักฟื้นไม่ต่ำกว่า 1 สัปดาห์ ยังโชคดีที่ช่วงป่วยนั้น เป็นช่วงผ่อนโปรแกรมซ้อมพอดี จึงยังได้ซ้อมวิ่งยาวเพิ่มระยะมาเรื่อยๆ จริงๆควรได้ซ้อมเพิ่มระยะถึง 35 กิโลเมตร แต่ด้วยป่วยรอบสุดท้าย จึงทำให้ต้องข้ามไป ได้ระยะซ้อมสูงสุดที่ 30 กิโลเมตร ที่เหลือค่อยไปคว้าเอา แต่ก็ตกลงกับตัวเองไว้แล้ว ว่าถ้าไม่ไหวก็ DNF ไป ในเมื่อร่างกายไม่พร้อม
เรามาเที่ยวเชียงใหม่ล่วงหน้าก่อนวันวิ่ง 4 วัน ขึ้นเขาบ้าง เดินบ้าง ขับรถไกลบ้าง เลยอาจทำให้เพลียๆไปบ้าง แต่คืนก่อนวันวิ่งนอนหลับได้เพียงพอ จึงค่อนข้างโอเค และวันก่อนวิ่ง 1 วัน ก็จัดการโหลดคาร์โบไฮเดรตตามสูตรเรียบร้อยค่ะ
วันเสาร์เราไปรับบิบ ยอมรับว่าตื่นเต้นค่ะ ยิ่งได้บิบอยู่ในมือแล้ว ยิ่งตื่นเต้นค่ะ มีความกลัวและกังวลเกิดขึ้น กลัวจะวิ่งไม่จบ กลัวจะเจ็บขา กลัวเหนื่อย กังวลเส้นทางวิ่ง กังวลทางที่มืด กังวลเนินที่จะเจอ และสารพัดจะคิดได้ค่ะ แต่ก็คิดต่อค่ะว่า มาถึงขนาดนี้แล้ว ซ้อมมาก็พอสมควร เดินทางมาถึงที่แล้ว คงต้องลุยกันไปให้ถึงที่สุด นี่จะเป็นอีกก้าวใหญ่ก้าวหนึ่งของนักวิ่งมือสมัครเล่นอย่างเราค่ะ
เวลาปล่อยตัว 3.30 เราตื่นมา 2.00 ยัดข้าว 1 จาน แล้วขับรถออกมาที่งาน มีคนลงระยะมาราธอนทั้งหมด 391 คนเองค่ะ ทำให้ตอนไปถึงบริเวณงาน ที่จอดรถยังมีเหลืออย่างเพียงพอค่ะ และจุดปล่อยตัวก็มีพื้นที่กว้างขวาง เหลือพอให้นักวิ่งยืนกระจายกันได้ไม่แออัดค่ะ
เรายืดๆวอร์มๆจิบน้ำไปเรื่อยๆได้ไม่นานก็ถึงเวลาปล่อยตัว ร่างกายยังไม่ตื่นตัวดี เพราะนี่ไม่ใช่เวลาวิ่งโดยปกติของเรา ทำให้การวิ่งช่วงแรกนี้วิ่งไปด้วยสัญชาตญาณของนักวิ่งล้วนๆ ยกขา ก้าวไปข้างหน้า วางลง ยกขาใหม่ไปเรื่อยๆ ไม่มีนาฬิกาดู แต่จับจังหวะก้าวขา และการหายใจเป็นหลัก บอกตัวเองว่าช้าๆ ไปเรื่อยๆ ช่วง 5 กิโลเมตรแรก เป็นช่วงวิ่งบนถนนทางราบ มีเนินนิดๆหน่อยๆ เหมือนละเมอวิ่งเลยค่ะ และเมื่อเริ่มวิ่งเข้าห้วยตึงเฒ่าที่เราแอบหวั่นๆเรื่องของเนิน ก็พบอุปสรรคหนึ่งที่กลัวอยู่แล้วคือ ทางวิ่งมืดมากค่ะ เห็นว่าทางผู้จัดได้พยายามให้มีรถมอเตอร์ไซค์จอดเป็นจุด และวิ่งวนเพื่อให้ได้มีแสงสว่างบ้าง แต่ก็เห็นได้ชัดว่าไม่ค่อยได้ช่วยอะไร เราลืมเอาไฟฉายมาจากบ้าน เลยอาศัยไฟจากเพื่อนนักวิ่งคนอื่น ทั้งที่เป็นไฟฉาย และไฟที่ห้อยไว้ที่กระเป๋าด้านหลัง สีแดงบ้าง สีเขียวบ้าง เป็นหิ่งห้อยนำทาง หรือไม่ก็วิ่งในความมืดไปเลยค่ะ
ทางวิ่งที่มืดอย่างนี้ อาจเกิดอันตรายได้หลายอย่างนะคะ เช่น เรามองไม่เห็นพื้นว่ามีหลุมบ่อหรือไม่ อาจทำให้สะดุดล้มลงได้ มองไม่เห็นเพื่อนนักวิ่งท่านอื่น ก็อาจทำให้ชนกันได้ มองไม่เห็นว่าเป็นทางขึ้นเนินหรือลงเนิน ทำให้กะแรงไม่ถูก แต่ข้อดีก็คือ เห็นดาวเต็มฟ้าเลยค่ะ และส่วนตัวเราก็ชอบที่จะวิ่งในความมืดด้วย เพราะทำให้มีสมาธิดีค่ะ
หลังจากระหกระเหิน ขึ้นลงเนินหรรษา ตามหาหิ่งห้อยมาพักหนึ่ง พอวนครบรอบ ก็วิ่งกลับออกมาทางเดิม ตอนนั้นระยะประมาณ 10-12 กิโลเมตรนี่ล่ะค่ะ เราเริ่มออกอาการตึงหน้าเข่าสองข้าง และตึงด้านนอกเข่าขวา คงเพราะที่ผ่านมา เราไม่ได้ซ้อมขึ้นลงเนินเลย ตรงปากทางตอนวิ่งเข้าเราเห็นแล้วล่ะว่ามีหน่วยแพทย์อยู่ ตอนวิ่งกลับออกมาจึงตรงเข้าไปหา ขอให้ช่วยฉีดสเปรย์ให้หน่อย ซึ่งพอจะช่วยบรรเทาอาการได้ ยังคิดอยู่ว่าจะไปต่อไหวหรือไม่ หากทางวิ่งต่อไปจากนี้เป็นทางราบ ก็คิดว่ายังไหวอยู่ค่ะ แต่ถ้าเป็นเนินอีก คงต้องต่อแผนสองค่ะ
หลังออกจากห้วยตึงเฒ่าแล้ว ตอนนั้นตื่นแล้วค่ะ เพราะเนินในห้วยช่วยสะกิดให้ตื่น เราวิ่งตามแสงไฟริมถนนมุ่งหน้า อ.แม่ริม ตรงนี้เป็นทางราบๆ สบายๆ ความชันมีเล็กน้อยทั้งขึ้นและลงค่ะ เลยทำระยะไปให้เยอะที่สุดเท่าที่ไหว และพอวิ่งเข้าวงกลมคุ้มเสือเชียงใหม่ ก็ได้พบเส้นทางที่มืดมิดอีกคราวหนึ่ง คราวนี้ เพื่อนนักวิ่งวิ่งทิ้งระยะห่างกันไปมากแล้ว เหมือนเราวิ่งอยู่คนเดียว ทางผู้จัดได้พยายามปักเทียนข้างทางเพื่อให้พอมีแสงสว่างบ้าง แต่ตอนที่เราวิ่งไปถึง เทียนบางจุดก็มอดดับไปแล้ว เราเลยอาศัยแสงสลัวจากเส้นแบ่งถนน และกรวยที่สะท้อนความมืดนิดๆนำทางไปค่ะ ตอนวิ่งพยายามไม่มองข้างทาง เพราะเห็นอะไรก็เป็นเงาตะคุ่มๆ พาลจะคิดเลยเถิดว่ามีใครมายืนดูเราวิ่งหรือเปล่า มีเพียงจุดเดียวที่ขึ้นลงเนินสูงที่ทางผู้จัดเอารถคันใหญ่มาส่องไปให้ทั้งหน้าหลัง มีแค่ประมาณนั้นค่ะ เราเลยก้มหน้าก้มตาวิ่งไปเรื่อยๆ จนกว่าฟ้าจะสว่างค่ะ
พอฟ้าเริ่มสว่าง แสงเริ่มมา ถึงได้รู้ตัวว่าวิ่งอยู่ท่ามกลางหมู่บ้านเล็กๆที่มีสถานที่ท่องเที่ยว และที่พักสำหรับนักท่องเที่ยวอยู่ประปรายค่ะ ทางวิ่งแถวนี้ขึ้นเนินลงเนิน ทางดินบ้าง ทางถนนบ้าง สลับกันไปค่ะ วิ่งวนไปวนมา ยังดีที่มีป้ายบอกทางดี แต่บางแยกตำรวจก็หายป้ายก็ไม่มี อาศัยวิ่งๆตามกันไปค่ะ ดีนะคะที่ไม่หลง สุดท้าย ได้วนกลับออกมาที่ริมถนนเช่นเดิม ตอนนั้นก็กิโลเมตรที่ 32 แล้ว และอากาศก็เริ่มร้อนขึ้นเรื่อยๆตามความสูงของพระอาทิตย์ค่ะ วันนี้ฟ้าใสซะด้วย ไม่มีแม้แต่เมฆสักก้อนมาบังแดดให้ค่ะ
เราเริ่มวิ่งนับก้าวตรงกิโลเมตรที่ 16 ค่ะ ถ้านับขวาซ้าย 1 ก้าว ได้ 1000 ก้าว ก็เท่ากับ 2 กิโลเมตร ถึงจุดให้น้ำพอดีค่ะ หลังจากนั้นก็จะเดินสัก 100 ก้าว สลับไปเรื่อยๆค่ะ ได้ทุก 2 กิโลเมตร เราเลือกพกกล้วยตากแบบแพคใส่ถุงขาย หยิบมาทานทุก 1 ชั่วโมงพร้อมกับตอนที่เข้าจุดรับน้ำค่ะ ทำอย่างนี้มาได้ตลอดจนถึงกิโลเมตรที่ 38 อยู่ดีๆ ขาก็ล้า หมดแรงเอาดื้อๆ แม้ตลอดทางที่วิ่งมาได้ขอให้หน่วยแพทย์ฉีดสเปรย์ให้เมื่อเจอค่ะ ระยะครึ่งหลังเริ่มรู้สึกถึงฝ่าเท้าร้อน เจ็บข้อนิ้วหัวแม่โป้งทั้งสองข้างมาก เจ็บด้านนอกและด้านหลังหัวเข่าขวามากขึ้นเรื่อยๆ การหายใจเริ่มถี่มากขึ้นแม้วิ่งช้าลง สมองเริ่มล้านับก้าวไม่ค่อยถูก นึกแผนไม่ออก คงจากแรงกระแทก และการใช้งานร่างกายที่มีมายาวนาน และไม่ใช่ระยะเวลาที่ร่างกายเราเคยได้รับการฝึกมาค่ะ
ตอนประมาณกิโลเมตรที่ 36 นั้น เราวิ่งกลับมาที่ถนนเส้นเดิมมุ่งหน้ากลับสู่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเชียงใหม่แล้ว ถนนตรงนั้นแดดส่องเข้าหน้าเต็มๆ ร้อนมากค่ะ มีร่มเงาของตึกทางซ้ายมือบังแดดให้เป็นระยะ แต่ก็ไม่มากค่ะ ตอนนี้คิดถึงแว่นกันแดด คิดถึงเป้น้ำมากค่ะ เพราะเราเกิดกระหายน้ำก่อนถึงจุดให้น้ำมากๆ ยังคิดว่างานหน้าควรพกมาด้วยจะดีกว่าค่ะ นอกจากขาที่ยกไม่ขึ้นแล้ว เจอศึกแดดร้อนอย่างนี้ก็สู้ไม่ค่อยจะไหว พยายามคิดบวกยังไงก็คิดไม่ออก นอกจากขาจะล้าแล้ว สมองก็ล้าด้วยค่ะ ยกขาวิ่งยังไงก็ยกไม่ขึ้น ได้แต่เดิน เดิน เดิน แล้วก็เดินไปเรื่อยๆค่ะ
ในตอนนั้นพยายามคิดหาอะไรก็ได้มาเป็นเหตุผลให้ขาที่แสนจะปวดและหนักอึ้งยกไม่ขึ้นยอมก้าวต่อไปข้างหน้าค่ะ ตอนที่เงยหน้ามองแสงแดด อยากจะโทษมันที่ร้อนเหลือเกิน มาส่องให้ร้อนอะไรหนักหนาตอนนี้ ทั้งที่จริงๆแล้วอยู่ที่ใจเราต่างหากที่มองมันไม่เหมือนเดิม เราจึงคิดได้ว่าขึ้นอยู่กับใจเราต่างหากที่อยากจะก้าวไปให้ถึงเส้นชัยหรือไม่ จะไปถึง หรือไปไม่ถึง เส้นชัยก็ไม่ได้ขยับหนีหายไปไหน เราเข้าใจแล้วว่า ฟูลมาราธอนที่ใช้ใจวิ่งมันเป็นยังไง ไม่ใช่ใช้ใจเพื่อเอาชนะร่างกายที่อ่อนแอจนบาดเจ็บนะคะ แต่คือการใช้ใจเพื่อเอาชนะความอ่อนแอของภาพลวงตาที่ใจเราสร้างขึ้นมาเองมากกว่าค่ะ ความเจ็บปวดใดๆของร่างกายมากมายขนาดไหนคงไม่เท่ากับความเจ็บปวดทางใจที่ยอมแพ้ล้มเลิกไปเสียก่อนนะคะ
และแล้ว ที่ 2 กิโลเมตรสุดท้าย เราเลยบอกตัวเองว่าให้เดิน 300 ก้าว สลับวิ่ง 300 ก้าว ไปเรื่อยๆ มีแต่ขาที่ก้าวไปข้างหน้าเท่านั้นแหละที่จะถึงเส้นชัย เพราะยังไงเส้นชัยก็ไม่มีทางมาหาเรา จงก้าวต่อไป ก้าวไป ไปจนถึงเส้นชัยค่ะ
พอเห็นทางวิ่งเข้าเส้นชัยที่กว้างขวาง แม้จะแอบเห็นว่าเป็นเนินขึ้นไปถึงเส้นชัยจนทำให้ท้อรอบสุดท้าย แต่ก็ดีใจมากค่ะ ถึงแม้ตอนนั้นจะยกขาไม่ขึ้นแล้ว ก็ยังฝืนใจวิ่งไปให้ถึงค่ะ ตอนที่วิ่งจะถึงนั้น ต้องขอบคุณเสียงปรบมือที่เป็นกำลังใจจากเพื่อนๆนักวิ่งและผู้ร่วมงานท่านอื่น ทำให้มีแรงเฮือกสุดท้ายผลักดันตัวเองเข้าเส้นชัยไปได้ค่ะ
วินาทีที่ขาเหยียบเส้นชัย ยอมรับเลยว่าไม่รู้สึกอะไรเลย ตอนนั้นแค่คิดได้ว่า “ถึงสักที” พอร่างกายมันเหนื่อยมากจนล้าไปทั้งตัวแบบนั้น ทำให้สมองตื้อนึกอะไรไม่ออกนะคะ จนเจ้าหน้าที่ยื่นเหรียญมาให้ ยังรับมาแบบเบลอๆเลยค่ะ แล้วก็มีเสียงเจ้าหน้าที่บอกว่า รับเสื้อทางด้านหลังนะคะ เราก็เดินตามเสียงไปรับเสื้อ Finisher ที่นอนฝันมาเป็นปีว่าอยากได้มาครอบครองสักตัว แต่พอได้ ก็ได้มาแบบเบลอๆงงๆค่ะ ตอนที่ยืนเบลอๆอยู่นั้น คนรู้ใจที่นัดกันไว้ว่าเจอกันที่เส้นชัย ก็เดินเข้ามาหา ตอนนั้นถึงได้รู้สึกตัวว่า เอ๊ะ! นี่เราวิ่งฟูลมาราธอนจบแล้วนี่หว่า เย้ๆๆๆๆ (อยากกระโดดดีใจ แต่ไม่มีแรงค่ะ 555)
ตอนนั้นทั้งแดดที่ร้อน และร่างกายที่ล้า คอแห้งผาก พอได้รับน้ำเย็นๆมาดื่มจากคนรู้ใจก็เริ่มมีเรี่ยวแรงกลับมา ไปยืนต่อคิวรับผลการวิ่งก็ต้องยืนต่อคิวกลางแดดเปรี้ยงๆ เจ้าหน้าที่ต้องพิมพ์หมายเลขลงในคอมพิวเตอร์ทีละคน ผลถึงออกมาได้ ออกจะงง เพราะปกติจะมีเครื่องอ่านไทม์ชิพแล้วก็พิมพ์ออกมาได้เลย ระหว่างยืนต่อคิวก็ดื่มน้ำไป ยืดกล้ามเนื้อไป พอได้ผลมาแล้ว ดูก็ออกจะงงๆอีกรอบ ผลออกมาว่าเราได้ที่โหล่ของทั้งกลุ่มอายุ และเพศค่ะ ตอนนั้นก็คิดว่าคงใช่ เพราะเราวิ่งช้าจริงๆ และข้างหลังก็ดูจะไม่มีผู้หญิงคนไหนวิ่งตามมาแล้ว เลยไม่ได้ใส่ใจ เดินหาที่ร่มหลบแดด แล้วยืดกล้ามเนื้อให้หายตึงหายเหนื่อยก่อน ฝากคนรู้ใจไปรับอาหารแทน ด้วยการถอดบิบไปให้ แฟนเดินกลับมาพร้อมบอกว่า เค้าให้หยิบได้เลย ไม่จำกัดจำนวน แต่สิ่งที่ได้มาคือ ข้าวเหนียวหมู ข้าวเหนียวไก่ และข้าวกับหมูยอ เห็นแล้วก็คิดว่าเก็บไปกินที่บ้านดีกว่า เลยชวนกันออกจากบริเวณงาน แล้วกลับบ้านค่ะ
กลับมาบ้าน ฝากพี่ชายซื้อต้มเลือดหมูไว้ให้ อุ่นทานพร้อมข้าว อร่อยกว่าเยอะค่ะ ข้าวเหนียวแข็งมาก และออกจะผิดหวังกับอาหารในงาน ซึ่งค่าสมัครมากถึง 900 บาท แต่คุณภาพอาหารมีเพียงเท่านี้ เทียบกับงานอื่นที่ราคาเท่ากันแล้ว ไม่คุ้มค่ะ งานนี้มีดี คือขั้นตอนการรับสมัครที่ราบรื่นและรวดเร็ว และน้ำเปล่าระหว่างทางที่เพียงพอค่ะ ที่เหลือก็เฉยๆหมด ไม่ประทับใจอะไร ไม่มีสปอนเซอร์ในงานมาก ทางวิ่งที่มืดก็ลดความประทับใจลงไปเยอะค่ะ
หลังวิ่งจบตอนเช้า เรานอนพักช่วงบ่ายไปเต็มๆ ด้วยความอ่อนเพลีย ตื่นมาตัวเมื่อย ขาตึง เดินกะเผลก ออกไปทานข้าวเย็น แล้วกลับมานอนต่อ พอมีเรี่ยวแรงก็ลุกมายืดเหยียดกล้ามเนื้อไปเรื่อยๆ ประคบเย็น เอาน้ำแข็งถูบริเวณที่รู้สึกเจ็บ ไม่ได้เอาขาลงไปแช่น้ำเย็นเพราะไม่มีถังน้ำใหญ่ๆที่บ้านเลย
เช้าวันรุ่งขึ้นออกเที่ยวในเมืองอีกนิดหน่อย และออกเดินทางกลับกรุงเทพเที่ยวบิน 18.30 ค่ะ เรานอนพักต่ออีก 1 วัน ค่อยออกไปทำงานวันต่อไปค่ะ
จบการวิ่งฟูลมาราธอนครั้งนี้ด้วยระยะที่แอพ Runkeeper จับได้คือ 42.44 กิโลเมตร ได้เวลา 5.25.54 ชั่วโมง และความเร็วเฉลี่ยอยู่ที่ 7.41 นาทีต่อกิโลเมตรค่ะ แต่ถ้าดูจากไทม์ชิพแล้วคือ 5.27.47 ชั่วโมง ได้ลำดับที่ 218 จากนักวิ่งที่ลงมาราธอนทั้งหมด 391 คน ได้ลำดับที่ 24 จากผู้หญิงทั้งหมด 54 คน และได้ลำดับที่ 15 จากนักวิ่งหญิงอายุ 30-39 ปีทั้งหมด 29 คน ถือได้ว่าอยู่ลำดับกลางๆนะคะ แค่ทึ่งกับคนที่เข้าเส้นชัยด้วยเวลา 3 ชั่วโมงมากๆค่ะ เค้าทำกันได้ยังไง และเราต้องทำยังไง ถึงจะวิ่งจบมาราธอนได้แบบไม่มีอาการล้าขนาดนี้ได้ คงต้องกลับไปวางแผนกันใหม่ค่ะผ่านมาแล้ว 7 วัน หลังจากวันนั้น วันฟูลมาราธอนแรก ยังรู้สึกเหมือนฝันอยู่เลยค่ะ แต่ความรู้สึกภูมิใจ ตื้นตัน อิ่มเอิบใจ ที่ยังคงท้นอยู่ข้างใน และผิวหน้า แขนขาที่ไหม้เกรียมแดดยังเป็นตัวยืนยันได้ดี นึกถึงทีไรก็เหมือนตัวจะลอย ยิ้มอยู่คนเดียว ออกแนวหลงตัวเองว่าทำได้ยังไง เก่งนะเนี่ยเรา จริงๆแล้วไม่เคยคิดจะไต่เต้ามาวิ่งที่ระยะนี้เลยค่ะ บอกใครต่อใครว่าเราจะขอหยุดที่ระยะฮาล์ฟเท่านั้น เพราะเป็นระยะที่ทำร้ายร่างกายพอดีๆ ระยะฟูลมาราธอนนี้ ถือได้ว่าเป็นระยะที่ทำลายร่างกายมากกว่ามาก และต้องใช้ระยะฟื้นตัวไม่ต่ำกว่า 6 สัปดาห์ แต่ด้วยคำว่านักวิ่ง หากเราไม่ได้วิ่งฟูลมาราธอนแล้ว คงจะบอกใครได้ไม่เต็มปากว่าเราเป็นนักวิ่งมาราธอนค่ะ
ความลำบาก ความเหนื่อยล้า ความขยันหมั่นเพียร ความอดทน ความตั้งใจ ความมุ่งมั่น ความมีวินัย การวางแผน การเตรียมพร้อม การดูแลร่างกาย การรับประทานอาหาร เมื่อองค์ประกอบทุกอย่างพร้อมแล้ว เราก็ควรออกไปตามล่าหาความฝันกันนะคะ ไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไร ก็จะเป็นประสบการณ์อันล้ำค่าค่ะ
ตอนวิ่งเราไม่ได้คุยกับใครมากเท่าคุยกับตัวเอง ไม่ได้เห็นอะไรมากไปกว่าเห็นร่างกายตัวเองเคลื่อนไหว เร็วไปก็ผ่อนลง ช้าไปก็เร็วขึ้น ระยะ 42.195 กิโลเมตร นานพอที่จะทำความรู้จัก และทำความเข้าใจร่างกายตัวเองได้อย่างละเอียดถี่ถ้วน ในรูปแบบที่ใครไม่ได้ลงมือทำ ก็ไม่สามารถจินตนาการได้ค่ะว่าเป็นอย่างไรเหมือนภาพวาดสีน้ำของจิตรกรเอกระดับโลก ระหว่างการเตรียมสี การผสมสี การเตรียมพู่กัน การจุ่มสีผสมน้ำ การลงมือวาดลงบนเฟรม ทุกอย่างคือศิลปะแห่งการควบคุมร่างกายและการใช้สีของจิตรกร สำหรับนักวิ่งก็ต้องเตรียมฝึกซ้อมร่างกายเป็นระยะเวลานานเตรียมอาหาร เตรียมชุดและอุปกรณ์ แล้วออกมาวิ่ง นั่นคือศิลปะแห่งการควบคุมร่างกายและการใช้พลังงานของนักวิ่ง ภาพวาดที่เสร็จแล้วเป็นเพียงแค่ความสำเร็จที่ให้คนอื่นเห็นและชื่นชมได้ คนอื่นอาจจะชื่นชมนักวิ่งมาราธอนแค่ในตอนที่เข้าเส้นชัย แต่ตัวนักวิ่งหรือจิตรกรเองต่างหากที่จะสามารถซาบซึ้งกับศิลปะระหว่างทาง ระหว่างตัวกับใจได้ดียิ่งกว่ามาก เรียกได้ว่าดื่มด่ำกับชัยชนะตั้งแต่ยังไม่ได้เข้าเส้นชัยเลยล่ะค่ะ
สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าเราจะวาดภาพสวยๆออกมาสักกี่ภาพ แต่ภาพเหล่านั้นจะเป็นภาพที่ไม่เหมือนกัน และไม่เหมือนใครสักภาพ การวิ่งมาราธอนแต่ละครั้ง จะไม่เหมือนกันสักครั้ง เราไม่รู้หรอก ว่าใครเคยวาดรูปอะไรได้มาก่อน แต่รู้แค่ว่า เราไม่เคยวาดมันได้มาก่อนก็พอค่ะ
จากนี้ไป เราสามารถยืดอกบอกใครต่อใครได้แล้วล่ะค่ะว่า
“ฉันเป็นนักวิ่งมาราธอนจ้า”
“I’m a marathoner!!!”
ขอให้เพื่อนนักวิ่งประสบความสำเร็จในการวิ่งแบบที่ตัวเองชอบกันนะคะ
Recent Comments