Explore the Knowledge for Runner
หลังจากวิ่งมาได้เกือบ 5 ปี ในวันหนึ่ง Facebook ก็เด้งขึ้นในหน้า Timeline ว่า 4 ปีที่แล้ว เราได้วิ่งออกกำลังกาย และมีสถิติบันทึกไว้คือ วิ่ง 8.89 กิโลเมตร ใช้เวลาไป 1.08.57 ชั่วโมง และ Pace อยู่ที่ 7.45 นาทีต่อกิโลเมตร ในตอนนั้นเราก็ว่าเราวิ่งเร็วแล้ว เพราะความรู้สึกเหนื่อยในตอนนั้น ยังคงจดจำมาได้จนวันนี้ กว่าจะปลุกตัวเองลุกออกมาวิ่งได้ในเช้าแต่ละวันที่ต้องซ้อมได้ ก็แสนจะลำบากยากเย็น นี่ถ้าไม่ได้โปรแกรมซ้อมในแอพช่วย คงไม่มีเป้าหมายอะไรให้ทำ และคงจะไม่มีอะไรทำให้ต้องลุกขึ้นมาทำแน่นอน
เราพอจะจำได้ว่า ในตอนนั้น เราอยากวิ่งให้ได้เร็วขึ้นในระยะมินิ จึงเลือกโปรแกรมซ้อมจากแอพ Runkeeper ที่ยอมจ่ายเงินเพิ่ม เพื่อให้ได้โปรแกรมสำเร็จรูปที่เค้าแถมมาให้ และเลือกทำตามโปรแกรมหนึ่ง ใช้ระยะเวลา 3 เดือน ตอนนั้นไม่รู้หรอกว่า ภารกิจที่เราต้องทำในแต่ละวันที่เค้าให้มานั้น ทำไปเพื่ออะไร ทำไปทำไม แล้วจะได้ประโยชน์อะไรกับร่างกาย แค่เปิดมาเจอแล้วมันบอกว่าให้วิ่งที่ความเร็วเท่านี้เท่านั้น ระยะเวลาเท่านี้เท่านั้น ใส่หูฟังฟังเพลงกระตุ้น ใส่นาฬิกาจับเวลาจับระยะทาง จับความเร็ว จับอัตราการเต้นของหัวใจ แต่กลับไม่เข้าใจอะไรสักอย่างในสิ่งที่กำลังทำอยู่
และคงเป็นเพราะโปรแกรมที่เลือกนั้นอาจจะหนักเกินกำลังความสามารถของร่างกาย พอวิ่งมาได้สักครึ่งโปรแกรม ก็พบว่า เราไม่สามารถวิ่งได้เร็วเท่าความเร็วที่ทางโปรแกรมกำหนดมาให้ ซ้ำร้ายยังวิ่งช้าลงๆ เกิดการหมดพลังงานระหว่างวัน คิดอะไรๆไม่ค่อยออกอ่อนเพลียและเบลอทั้งวัน จนเกิดคำถามในใจว่า มีอะไรผิดพลาดหรือเปล่า มันจากอะไรกันแน่ ตอนนั้นยังไม่รู้จักคำว่า Overtraining syndrome ซึ่งเป็นภาวะล้าของร่างกายหลังจากการออกกำลังกายอย่างหนักเป็นเวลานาน และตอนนั้นยังไม่รู้อีกว่า ตารางโปรแกรมที่เลือกทำตามนั้น เน้นไปที่โซน 3-4 โดยส่วนใหญ่ เพราะต้องฝึกกล้ามเนื้อหัวใจให้มีความแข็งแรงในการสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้ดีขึ้น หากต้องการวิ่งให้ได้เร็วขึ้น แต่ไม่ใช่การวิ่งช้าๆที่โซน 2 เพื่อปรับความสามารถของการเต้นของหัวใจให้ดี และนานได้เสียก่อนซึ่งมีความสำคัญมากสำหรับนักวิ่งหน้าใหม่ เพราะเป็นพื้นฐานของการวิ่งอย่างอื่นทั้งหมด จนถึงจุดหนึ่ง เราจึงต้องหยุดโปรแกรมนั้น หยุดพักร่างกายสักระยะหนึ่ง แล้วจึงลงมือหาความรู้ในการฝึกซ้อมที่ถูกต้องเพิ่มเติมด้วยตนเอง เราโชคดีที่เรียนจบมาทางด้านกายภาพบำบัด ซึ่งเน้นการออกกำลังกายเพื่อการรักษาอยู่แล้ว และจบปริญญาโททางเวชศาสตร์การกีฬา ที่เน้นเรียนโครงสร้างร่างกาย และกลไกการเคลื่อนไหวของร่างกาย รวมไปถึงสรีระวิทยาการออกกำลังกาย ซึ่งมีประโยชน์ในการหาความรู้เพิ่มเติม และทำความเข้าใจได้ไม่ยากนัก
หลังจากค้นคว้าหาความรู้สักระยะ ถึงเพิ่งรู้ตัวว่า เราฝึกซ้อมผิดมาโดยตลอด โลกของการวิ่งกว้างใหญ่เกินกว่าที่คิดไว้มาก และยิ่งเรียนรู้ ร่วมกับลงมือปฏิบัติมากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งสนุกมากเท่านั้น ถึงขนาดสั่งหนังสือภาษาอังกฤษเกี่ยวกับการวิ่งจาก Amazon มาอ่าน และชอบถึงขนาดแปลเขียนลงเพจ ความชื่นชอบการวิ่งมีมากถึงขนาด ลงเรียนคอร์สสอนเกี่ยวกับการออกแบบโปรแกรมวิ่งของ Revolution Running และยิ่งได้ความรู้เพิ่มเติม นำมาใช้กับตัวเองและคนใกล้ตัวได้ พร้อมกับสามารถให้ความรู้กับคนไข้ที่มีอาการบาดเจ็บจากการวิ่งได้
หลังจากการฝึกซ้อมผิดในครั้งนั้น ทำให้เราเลิกสนใจเรื่องความเร็ว แต่หันกลับมาสนใจวิธีการที่จะทำให้วิ่งได้เร็วเท่าที่ร่างกายไหว และปลอดภัยไม่บาดเจ็บ แทนที่จะทำให้ความเร็วลดลง เมื่อผ่านไป 5 ปี ความเร็วกลับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แม้อายุจะเพิ่มขึ้นจนกำลังจะต้องเปลี่ยนช่วงอายุไปเป็นรุ่น 40 ปีก็ตาม จากการวิ่งเพซ 7.45 นาทีต่อกิโลเมตรกลายมาเป็น 5.30 นาทีต่อกิโลเมตรในระยะทาง 9 กิโลเมตรได้ไม่ยาก เราจึงตั้งเป้าหมายใหม่นั่นคือ วิ่งให้ได้ถึงอายุ 80 ปีค่ะ ถ้าไม่มีโรคอื่นๆแทรกซ้อนและทำให้ไม่สามารถวิ่งได้ไปเสียก่อน
ส่วนเรื่องความเร็วนั้น ใครอยากให้ความสำคัญกับมันอย่างไร คงเป็นสิทธิ์ของคนนั้นนะคะ แต่เราไม่มีสิทธิ์ที่จะเอาร่างกายของเราไปเทียบกับคนอื่นค่ะ เพราะปกติของเขา อาจไม่ใช่ปกติของเราค่ะ ความปกติของเขา อาจกลายเป็นความผิดปกติของเราได้ หากเราไม่รู้ทันร่างกายตัวเองค่ะ
ขอให้เพื่อนนักวิ่งรู้จักความปกติ และรู้ทันความผิดปกติของร่างกายตัวเองกันนะคะ
Recent Comments