ยิ่งวิ่งน้อย ยิ่งได้มาก

 

70 ยิ่งวิ่งน้อย ยิ่งได้มาก - 1

จริงๆวันที่ 5 ธันวาคมที่ผ่านมาเราลงสมัครงาน Run for Sea เอาไว้ แต่ทางผู้จัดงานได้ย้ายสถานที่จัดงานจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปที่ตลาดนัดเลียบด่วนรามอินทรา ซึ่งไกลสำหรับเรามาก ค่ารถไปกลับก็สามารถนำมาลงงานวิ่งใหม่ได้อีกงานหนึ่งเลย เราเลยตัดสินใจไม่ไปดีกว่า และก็เข้าใจทางผู้จัดว่ามีเหตุจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนสถานที่จัดงานจริงๆ แม้จะแจ้งล่วงหน้าเพียง 5 วัน ขนาดนักวิ่งยังรู้สึกว่าเตรียมตัวไม่ทัน นี่ไม่ต้องนึกถึงผู้จัดเลย คงวิ่งจัดการแก้ปัญหากันหูตูบแล้ว เราก็ไม่อยากเป็นเสียงหนึ่งที่ทำให้ผู้จัดเครียดมากขึ้น เลยคิดซะว่าทำบุญแล้วกัน เสียดายแค่ว่าจะไม่ได้เหรียญที่น่ารักมากๆ เลยส่งข้อความถามทางผู้จัดว่า สำหรับคนที่ไม่ได้ไปร่วมงานจะขอเหรียญได้ไหม ยังไงเราก็ต้องออกไปวิ่งอยู่แล้ว และทางผู้จัดก็แจ้งกลับมาว่า สามารถไปรับเหรียญได้ที่โรงพยาบาลกล้วยน้ำไท แต่ต้องหลังจากวันที่ 6 เป็นต้นไป แค่นั้นก็สบายใจค่ะ

วันที่ 5 ธันวาคม เราเลยเปลี่ยนจุดหมายไปวิ่งที่สวนลุมแทนค่ะ และตารางวิ่งวันนี้ก็ยังคงอยู่ในช่วงฟื้นตัวจากวิ่งฟูลมาราธอน แต่เป็นช่วงท้ายๆแล้วค่ะ จึงมีการวิ่งเร่งเพิ่มมาตอนท้ายค่ะ

 

 

เป้าหมายการวิ่งคือ 8 กิโลเมตร ด้วยความเร็วแบบวิ่งสบายๆ จากการคำนวณความเร็วที่ดีที่สุดของ 5 กิโลเมตรคือ 29 นาที เราจึงได้ความเร็วเพซที่ต้องวิ่งอยู่ในช่วง 8.08-9.23 นาทีต่อกิโลเมตร แบบว่าช้ามากๆจนจะหลับอีกแล้ว แต่ก็ต้องฝืนใจวิ่งไปค่ะ เพราะยังไม่อยากเร่งอะไรเราเองก็รู้ตัวว่าแรงหลังจากการวิ่งฟูลมาราธอน เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนหน้านั้น มันถดถอยไปขนาดไหน ใครเป็นอย่างเราหรือเปล่าก็ไม่รู้ รู้สึกขาล้าไปเลย 1 สัปดาห์เต็ม ขนาดที่ว่าเดินขึ้นลงบันไดยังต้องเกาะราวบันไดแล้วค่อยๆเดิน พอเข้าสัปดาห์ที่ 2 เริ่มมีเรี่ยวแรงขึ้น แต่ก็ยังรู้สึกข้อขึ้นสนิม มันไม่ลื่น ยังติดๆขัดๆอยู่ จะก้าวจะเดินให้เร็วก็เหมือนต้องใช้แรงมากกว่าปกติ ต้องเข้าสัปดาห์ที่ 3 นี่ล่ะค่ะ ที่เริ่มจะวิ่งเหยาะเพซ 8 ได้สบายๆหน่อย พอมาวิ่งวันนี้เลยเป็นช่วงที่ขาเริ่มก้าวไปข้างหน้าได้สบายขึ้น การวิ่งสไตรด์ 4 รอบทำให้รู้ตัวว่า อ้าว กำลังขากลับมาแล้วนี่นา เย้!

70 ยิ่งวิ่งน้อย ยิ่งได้มาก - 4

การวิ่งสไตรด์เป็นการฝึกที่ช่วยเพิ่มความเร็วการวิ่งได้ ง่ายที่สุด และใช้เวลาไม่นาน โดยเริ่มจากการวิ่งเร่งเครื่อง ใช้เวลา 10 วินาที เร่งให้ถึงความรู้สึกหนักของนักวิ่ง 95% (ไม่ใช่ 95% ขออัตราการเต้นหัวใจสูงสุดนะคะ ให้ใช้ความรู้สึกของเราเป็นหลักค่ะ) หรือใช้ความเร็วที่วิ่งได้ดีที่สุดใน 5 กิโลเมตรแทนก็ได้ค่ะ และคงไว้ 15 วินาที แล้วจึงผ่อนเครื่อง 5 วินาที รวมแล้วได้ 30 วินาที หลังจากนั้นพักด้วยการเดินหรือวิ่งเหยาะๆ  60 วินาที ทำอย่างนี้ 4 รอบค่ะ เราอาจฝึกวิ่งสไตรด์ได้โดยการกำหนดระยะทาง 100-150 เมตรได้ แต่ก็สามารถกำหนดด้วยเวลาได้เหมือนกันค่ะ อย่างที่เราทำให้ดูเป็นตัวอย่างค่ะ

การวิ่งสไตรด์ง่ายกว่าการวิ่งแบบอินเทอร์วอล จึงทำให้ปรับฟอร์มการวิ่งได้ง่าย และไม่เหนื่อยเท่า เหมาะกับนักวิ่งมือใหม่ที่อยากจะเพิ่มความเร็วอย่างง่าย และเป็นระบบค่ะ

เพื่อนๆสามารถเพิ่มการวิ่งสไตรด์เข้าไปในวันวิ่งแบบสบายๆ ช่วง 3/4 หลังของเวลาวิ่ง เช่น วิ่ง 45 นาที ให้ทำสไตรด์ 4 รอบหลังจากวิ่งไปแล้ว 30 นาทีค่ะ สไตรด์มีความสำคัญในการฝึกซ้อม และการแข่งขันค่ะ เพื่อนๆอาจใช้สไตรด์เป็นการอบอุ่นร่างกายได้โดยทำสไตรด์ 3-4 รอบเป็นอย่างสุดท้ายของการอบอุ่นร่างกายก่อนการฝึกความเร็วอื่นๆ หรือทำสไตรด์ 3-4 รอบก่อนเวลาปล่อยตัวการแข่งขัน เพื่อให้ร่างกาย “ตื่นตัว” มากเพียงพอด้วยการกระตุ้นระบบประสาทและกล้ามเนื้อให้พร้อมเพื่อการแข่งขัน

การวิ่งสไตรด์ด้วยท่าทางที่ถูกต้องคือ ให้โน้มตัวไปข้างหน้าประมาณ 1-2 องศา ควรรู้สึกข้อเท้าเด้งได้ และให้เหวี่ยงแขนมากกว่าตอนวิ่งช้าๆเล็กน้อยเพื่อให้ได้แรงเหวี่ยงถึงขาที่วิ่งเร็วขึ้น สำหรับนักวิ่งส่วนใหญ่ จะรู้สึกสนุกกับสไตรด์ เป็นประสบการณ์ที่ดี   และที่สำคัญอย่าคิดว่าสไตรด์คือการวิ่งเร่งให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้นะคะ ให้วิ่งเท่าที่ความรู้สึกเราบอกว่าเกือบสุด และต้องมีช่วงเร่งและช่วงผ่อนค่ะ เมื่อจบสไตรด์แล้ว เพื่อนๆไม่ควรรู้สึกล้านะคะ เพื่อให้การวิ่งสไตรด์ได้ผลตามสโลแกน ยิ่งวิ่งน้อยยิ่งได้มากค่ะ

และแล้วในที่สุดเราก็ได้รับเหรียญจากการที่ทางผู้จัดงาน Run for Sea ส่งแบบลงทะเบียนมาให้แบบไม่คิดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมค่ะ แบบว่าน่ารักอย่างนี้ ปีหน้าไม่พลาดค่ะ

ขอให้เพื่อนๆสนุกกับการวิ่งสไตรด์กันลนะคะ

 

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

%d bloggers like this: