Explore the Knowledge for Runner
เคยมีอาจารย์ที่เคารพท่านหนึ่งบอกว่า ถ้าไม่อยากเจ็บเพราะวิ่ง ก็อย่าเป็นนักวิ่ง แรกๆก็ไม่เข้าใจจนมาเป็นนักวิ่งเอง ถึงได้เข้าใจถ่องแท้
ร่างกายคนเราปกติแบบที่ไม่ได้ออกกำลังกายนั้น มันก็สามารถถูกใช้งานได้ตามสภาพความปกติของมันตามกิจกรรมในชีวิตประจำวันของแต่ละคนใช่ไหมคะ อย่างเช่น เดินจากบ้านไปที่ทำงาน บางคนขับรถไปทำงาน จอดรถแล้วก็เดินขึ้นตึก นั่งหน้าโต๊ะทำงานแล้วก็ลุกอีกทีตอนเที่ยง เดินไปตลาดนัดใกล้ๆที่ทำงาน หาอะไรทาน แล้วก็กลับมานั่งโต๊ะใหม่ ทำงานจนถึงเย็น ขับรถไปหาอะไรทาน แล้วก็ขับรถกลับบ้าน บางคนก็ได้เดินไปรถไฟฟ้ามากหน่อย บางคนโหนรถเมล์ วันหยุดก็อยู่บ้าน ซักผ้า ตากผ้า กวาดบ้าน ถูบ้าน ซ่อมบ้าน นี่คือกิจกรรมตามแต่ชีวิตแต่ละคนจะเป็นไปใช่ไหมคะ มีคำว่าวิ่งอยู่ในนั้นหรือไม่ ไม่เห็นมีเลยใช่ไหมคะ อาจจะมีบ้างถ้ารีบ ก็วิ่งสักสิบก้าว ยี่สิบก้าว แล้วก็เดินต่อ
แล้วเมื่อเราผันตัวมาเป็นนักวิ่ง อยู่ดีไม่ว่าดี ลุกขึ้นมาพาร่างกาย ใส่รองเท้า ออกไปวิ่ง 3 วัน 4 วันต่อสัปดาห์ บางคนจริงจังหน่อยก็วิ่งทุกวัน วันละ 5 กิโลเมตรบ้าง 10 กิโลเมตรบ้าง สัปดาห์ละ 20 – 40 กิโลเมตรบ้าง แล้วแต่ความจริงจัง เป้าหมาย และความคาดหวังของแต่ละคน แล้วทำไมร่างกายของเรา จากมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง จึงสามารถแปลงร่างมาเป็นยอดมนุษย์นักวิ่งได้ล่ะค่ะ ถ้าไม่ใช่ความสามารถในการปรับตัวของร่างกายเราเอง
ความหนักของกิจกรรมที่เพิ่มขึ้น เรียกได้ว่าเป็นสิ่งแปลกปลอมสำหรับร่างกาย แต่ขึ้นอยู่กับเพื่อนๆ ว่าจะใส่โปรแกรมให้สมองของเราว่าอะไร ใส่ว่าการวิ่งนั้นให้ประโยชน์กับร่างกายด้วยการค่อยๆเพิ่มความหนักหลังจากที่ร่างกายเริ่มชินกับความหนักใหม่ที่ให้ไปแล้ว หรือจะใส่ว่าการวิ่งนั้นให้โทษด้วยการให้ความหนักเพิ่มขึ้นๆอย่างรวดเร็ว จนทำให้เกิดอาการเจ็บปวดกับร่างกาย เป็นเรื่องธรรมดา ที่สมองจะจดจำสิ่งที่เป็นอันตรายก่อน แล้วก็จะจำฝังใจเลยว่าการวิ่งนั้นไม่ควรทำ เพราะมันสร้างความเจ็บปวด เพื่อนๆหลายคนที่เคยบาดเจ็บจากการวิ่ง จะรู้ดีว่า ในวันที่กลับมาวิ่งใหม่หลังจากที่ต้องพักนานนั้น สมองลืมท่าวิ่งไปมากขนาดไหน
การที่เราเหล่านักวิ่ง ใช้ร่างกายมากเกินกว่าปกติที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ถือว่าเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บให้กับร่างกายอยู่แล้วค่ะ การเพิ่มการใช้ร่างกายนี้จึงควรค่อยๆเพิ่มความแข็งแรงให้กับทุกๆส่วนของร่างกายอย่างครบถ้วน ทั้งกระดูก เส้นเอ็นกล้ามเนื้อ เส้นเอ็นยึดข้อ กล้ามเนื้อ หัวใจ ปอด สมอง ฮอร์โมน และการฝึกซ้อมนั้นก็ต้องมีระบบ ระเบียบวินัย มีการวางแผนตามช่วงเวลาอย่างเหมาะสมนะคะ จึงจะสามารถลดการเกิดการบาดเจ็บลงได้
เป็นไปอย่างที่อาจารย์กล่าว หากจะบอกว่านักวิ่งมีโอกาสเจ็บตั้งแต่ผันตัวมาเป็นนักวิ่งแล้วนั้นก็ไม่ผิดนัก การบาดเจ็บจากการฝึกซ้อมที่มากขึ้นนั้นเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ แต่มันก็เป็นสัญญาณเตือนให้เพื่อนๆได้รู้ว่า การฝึกซ้อมนั้นมากเกินไปแล้ว หากเพื่อนๆหยุดพัก ตรวจสอบโปรแกรมซ้อมที่ทำอยู่ว่าครบถ้วนทุกด้านหรือยัง (ทั้งการวิ่ง การเพิ่มความแข็งแรง ความยืดหยุ่น การฝึกเพิ่มพลังการวิ่ง) แล้วทุกองค์ประกอบนั้นสมดุลกันหรือไม่ มีอย่างใดอย่างหนึ่งมากเกินไปหรือเปล่า เช่น วิ่งอย่างเดียว ไม่ได้ยืดกล้ามเนื้อหรือเพิ่มความแข็งแรงเลย หากพบเจอข้อบกพร่อง ก็ควรจะรีบปรับปรุง ก่อนที่อาการเจ็บที่สามารถเกิดเป็นปกตินั้นจะเปลี่ยนไปเป็นอาการเจ็บที่ผิดปกติจนไม่สามารถแก้ไขได้เลยนะคะ
ขอให้เพื่อนนักวิ่งไม่มีอาการเจ็บจนเป็นปกติกันนะคะ
1 Jun 17
Recent Comments