Explore the Knowledge for Runner
มันคือวันแข่งขัน เพื่อนๆได้ทำการฝึกซ้อมมาเรียบร้อยแล้ว ทำทั้งการเรียวการฝึกซ้อมแล้ว ทานอาหารอย่างถูกต้อง ดื่มน้ำอย่างถูกต้องด้วย ทั้งหมดที่เหลือคือการออกไปวิ่งในวันแข่งขัน ทุกปีนักวิ่งจำนวนล้านคนได้ยื่นเท้าแตะปลายเส้นปล่อยตัวที่อเมริกาและทั่วโลก และตอนนี้เพื่อนๆก็เป็นหนึ่งในคนเหล่านั้น ลองถามตัวเองว่าอะไรทำให้เพื่อนๆแตกต่างไปจากนักวิ่งคนอื่นที่แข่งขันได้ดีและสามารถทำได้ตามเป้าหมายของพวกเขา และพวกเขาแตกต่างอย่างไรกับคนที่บ้าและล้มเหลว แน่นอนว่าคงไม่ใช่เพราะพันธุกรรม ไม่ใช่เพราะพรสวรรค์ด้วย แต่คือสองอย่างต่อไปนี้ “การฝึกซ้อม” และ “การรู้ตัวว่าจะแข่งอย่างไร” เมื่อเพื่อนๆผ่านการแข่งขันครั้งแรกแล้ว ครั้งต่อไปก็จะง่ายขึ้น ไม่ใช่แค่รู้ว่าต้องทำอะไรในการแข่งขัน แต่ที่สำคัญกว่านั้นการรู้ว่าไม่ควรทำอะไรมากกว่า
การแข่งขันคือการใช้ความพยายามในการวิ่งสูงที่สุด 100% ความท้าทายเฉพาะจากการแข่งขันไม่ใช่ทางร่างกาย แต่คือทางจิตใจ ใครๆก็สามารถผลักดันตัวเองให้ไปถึงจุดที่เหนื่อยที่สุดได้ เคล็ดลับคือกระจายความหนัก 100% ให้เท่าๆกันตลอดระยะทางทั้งหมดที่ใช้ในการแข่งขัน ดูเหมือนจะง่ายใช่ไหม ในทางทฤษฎีแล้วก็อาจจะเป็นอย่างนั้น แต่ในการแข่งขันจริงแล้ว ไม่ง่ายอย่างนั้น เพื่อนๆมีฮอร์โมนอะดรีนาลีนหลั่งไปตามเส้นเลือดดำ และจำนวนคลื่นเพื่อนนักวิ่งที่ตื่นเต้นมากมายก็วิ่งอยู่รอบๆตัว เพื่อนๆจะมีการรอคอยที่ทนทุกข์ทรมานที่จุดปล่อยตัว แล้วดีดทั้งตัวไปข้างหน้าทันทีที่เสียงปืนปล่อยตัวดัง (หรือจะเป็นเสียงแตรดังก็ได้) แถมยังมีผู้คนที่ตะโกนเชียร์ เสียงเท้านักวิ่งที่วิ่งเร่งลงไปบนพื้นแถวจุดปล่อยตัว ทั้งดัน ทั้งผลัก และทั้งกระตุ้นสัญชาตญาณของการออกวิ่งไปพร้อมกับกลุ่มนักวิ่งกลุ่มใหญ่ กับคำที่ก้องในหัว “ไป ไป ไป” ในช่วงเวลานั้น เพื่อนๆต้องการแผนซ้อม และต้องการความมั่นใจในการลงมือทำให้ได้
การแข่งขันวิ่งคือการแข่งขันทางการกีฬาที่เรียบง่ายที่สุดเท่าที่มนุษยชาติรู้จัก และกลยุทธ์การแข่งขันที่ดีที่สุดก็เรียบง่ายเช่นกัน เพื่อนๆแค่เลือกความเร็วที่มั่นใจว่าสามารถรักษาได้ตลอดการแข่งขัน การตัดสินใจที่เพื่อนๆจะใช้ในการแช่งขันขึ้นอยู่กับการตอบสนองกลับจากร่างกายของเพื่อนๆ (บางอย่างที่เพื่อนๆได้ซ้อมมาตลอดการวิ่งไกลและการฝึกหนักเป็นชุดจำนวนมาก) และเมื่อแผงโฆษณาที่อยู่ตามแนวทางมุ่งสู่เส้นชัยเข้ามาสู่ลานสายตาของเพื่อนๆ เพื่อนๆจะกระจายพลังงานทั้งหมดของเพื่อนๆเท่าที่มีเหลืออยู่เพื่อวิ่งข้ามเส้นชัยด้วยความพยายามสูงสุด 100%
อย่างไรก็ตาม ในเชิงการฝึกซ้อมแล้ว เป็นเรื่องที่ยากเย็นอย่างน่าประหลาดใจที่จะสามารถทำตามกลยุทธ์นี้ได้
เพื่อนๆไม่จำเป็นต้องเป็นอัจฉริยะเพื่อให้มองเห็นภาพว่ายังมีความเร็วสูงสุดที่เพื่อนๆสามารถคงไว้ได้ตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนถึงเส้นชัย แต่มีเพียงเฉพาะนักวิ่งที่มีระเบียบวินัยเท่านั้นที่จะสามารถกันสิ่งรบกวนแวดล้อมอื่นๆออกไปได้เพื่อให้สามารถรักษาระดับความเร็วเอาไว้ได้ ไม่ว่าจะเป็น ผู้ร่วมแข่งขัน คนดูที่ส่งเสียงเชียร์ เสียงภายในจิตใจของเพื่อนๆเอง สิ่งที่จะบอกต่อไปนี้เป็นเพียงแนวทางพื้นฐานที่จะช่วยให้เพื่อนๆทำงานนี้ได้ง่ายขึ้น
เร่งโดยที่ไม่ใช้ความเร็วสูงที่สุด: วิ่งเร่งออกจากจุดปล่อยตัวอย่างแรงและเร็วเพื่อไปให้ถึงความเร็วที่คาดว่าจะวิ่ง (แต่ไม่ให้วิ่งเร็วกว่าที่ตั้งใจไว้) และไม่ให้เร่งจนสุดตัว การวิ่งเร่งความเร็วสูงสุดในช่วง 100 เมตรแรก เพื่อนๆมั่นใจได้เลยว่าจะคลานเข้าเส้นชัยที่ 100 เมตรสุดท้าย ถ้าเพื่อนๆต้องการเปลี่ยนความเร็วระหว่างทาง ให้ค่อยๆเปลี่ยน การวิ่งเร่งมากๆ และการปรับเปลี่ยนความเร็วมากเกินไปเป็นการใช้พลังงานที่มากเกินจำเป็น
อย่าชนคนอื่น: อย่าไปวิ่งเบียด หรือชนกับนักวิ่งคนอื่น เพราะจะทำให้เพื่อนๆเสียเวลา และเสียพลังงาน แถมยังเป็นเรื่องที่ไม่ฉลาดเอาซะเลย และเพื่อนๆจะเสียใจกับพฤติกรรมความไม่มีน้ำใจนักกีฬาของตนเองในภายหลังแน่นอน
รักษาความหนักที่ร่างกายรับได้ไว้ตลอด: วิ่งตลอดช่วงการแข่งขัน (ไม่นับช่วงที่เร่งออกตัวช่วงแรก) ด้วยความหนักที่คงที่ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าความรู้สึกของเพื่อนๆต่อความหนักนั้นจะเท่ากันตลอดการแข่งขัน ในช่วงแรกเพื่อนๆจะรู้สึกว่าง่ายหน่อย และในช่วงครึ่งหลังก็จะไม่ง่ายแล้ว แต่ความหนักของเพื่อนๆควรค่อยๆรีดเอาพลังงานออกจากร่างกายด้วยอัตราที่คงที่ เป็นผลทำให้เพื่อนๆสามารถคงความเร็วไว้ได้ตลอดการแข่งขัน
ใช้ทางลัดที่ถูกกฎการวิ่ง: พยายามวิ่งให้เป็นเส้นตรงในการแข่งขัน (ใช้ระยะทางที่สั้นที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้) หลีกเลี่ยงทางโค้ง อย่าวิ่งคดเคี้ยวไปมาระหว่างนักวิ่งคนอื่น และเมื่อเพื่อนๆต้องวิ่งข้ามถนนจากฝั่งหนึ่งไปอีกฝั่งหนึ่งเพื่อเตรียมที่จะกลับตัว ให้จำไว้ว่าต้องวิ่งให้ได้ระยะที่ใกล้ที่สุดเป็นเส้นตรงเท่านั้น
วิ่งตามลม: พยายามวิ่งอยู่ด้านหลัง หรือวิ่งข้างๆนักวิ่งคนอื่น เพื่อให้ได้ประโยชน์ทั้งสองคน ในเชิงของร่างกายแล้ว เพื่อนๆจะประหยัดเวลาได้ถึง 4 – 8 วินาทีต่อไมล์ (การลดแรงต้านของลมทำให้เพื่อนๆวิ่งได้เร็วขึ้นโดยใช้พลังงานเท่าเดิม) ในเชิงจิตใจแล้วเพื่อนๆมีไหล่ของนักวิ่งท่านอื่นเป็นตัวช่วยกำหนดความเร็วของการวิ่งให้ด้วย
ใช้ประโยชน์จากพลังงานที่เหลือ: เพื่อนๆควรประเมินระดับพลังงานที่เหลือ และระดับอาการล้าอย่างต่อเนื่อง ถามตัวเองตลอดว่า “ชั้นสามารถจบการแข่งขันที่ความหนักเท่านี้หรือไม่?” ถ้าใช่ ให้คงความหนักระดับนั้นต่อไป ถ้าไม่ใช่ ให้ค่อยๆลดความหนักลงก่อนที่เพื่อนๆจะทำลายการแข่งขันของตัวเองลง
ลดความทุกข์ทรมานให้น้อยที่สุด: การพยายามคงความหนักอย่างถูกต้องและตลอดการแข่งขันจะช่วยยืดเวลาอาการล้าอย่างหนักหน่วงออกไปอีก (อาการล้าหมายถึงความทุกข์ทรมานนั่นเอง) เพื่อนๆจะลดช่วงเวลาที่จะเจ็บปวดลง ถ้าเพื่อนๆเกิดอาการเจ็บปวดที่ช่วงครึ่งหนึ่งของการแข่งขัน เพื่อนๆไม่สามารถจบการแข่งขันด้วยความแข็งแรงได้
เตะตัวเองเข้าเส้นชัยให้ช้าที่สุด: อย่าวิ่งเร่งเข้าเส้นชัยจนกว่าเพื่อนๆจะแน่ใจว่าสามารถคงความหนักนั้นได้ไว้นานจนเข้าถึงเส้นชัยได้ ถ้าเพื่อนๆออกแรงเร่งเข้าเส้นชัยเร็วเกินไป เพื่อนๆจะเสียเวลาอีกมากในการวิ่งคืบคลานเข้าเส้นชัย แทนที่จะได้ระยะทางจากการวิ่งเร่งนั้น
วิ่งด้วยการแข่งขันของเพื่อนๆเอง: อาจจะดูเป็นความคิดที่คร่ำครึล้าสมัย แต่ก็ยังคงใช้ได้ดี เพราะมันคือความจริง ทุกคนที่วิ่งในการแข่งขันมีสมรรถภาพร่างกายเป็นของตนเอง รวมทั้งพรสวรรค์ และกลยุทธ์การแข่งขันด้วย บางกลยุทธ์อาจดีสำหรับคนอื่น แต่ไม่ได้หมายความว่าจะดีสำหรับเพื่อนๆ
วิ่งด้วยสิ่งที่ร่างกายเพื่อนๆมีในวันนั้น: ไม่ใช่ทุกการแข่งขันที่เพื่อนๆจะได้สถิติส่วนตัวใหม่ ถ้าเพื่อนๆไม่สามารถวิ่งได้เวลาตามที่คำนวณไว้ในทุกกิโลเมตร เพื่อนๆไม่สามารถเร่งความเร็วขึ้นได้มากกว่าที่วางแผนไว้ เพื่อนๆก็ลืมเรื่องสถิติใหม่ไปได้เลย และวิ่งให้ดีที่สุดเท่าที่เพื่อนๆจะทำได้ แม้จะไม่ได้สถิติใหม่ แต่เพื่อนๆจะได้ข้อมูลตอบกลับจากร่างกายที่มีคุณค่าในการปรับเปลี่ยนโปรแกรมการฝึกซ้อมในอนาคตแทน
หากเพื่อนๆทำตามคำแนะนำนี้ และวิ่งแข่งขันจบได้ดีแล้ว และถ้ายังทำต่อไปเรื่อยๆ เพื่อนๆก็จะแข่งขันได้ดีขึ้นเรื่อยๆเองค่ะ
กลยุทธ์การแข่งขันที่ดีที่สุดคือการพุ่งเป้าหมายไปที่การแข่งขันที่ “ดี” ไม่ใช่ที่ดีเยี่ยม การพยายามวิ่งให้ได้ผลที่ดีที่สุดคือการเชื้อเชิญหายนะมาสู่ร่างกาย มันทำให้เพื่อนๆวิ่งเร็วเกินไป และไม่สนใจสัญญาณตอบกลับจากร่างกาย ในทางตรงกันข้าม การวิ่งให้ได้การแข่งขันที่ดีคือการเชื้อเชิญความมั่นใจเข้ามาสู่ประสบการณ์นักวิ่งของเพื่อนๆ เพื่อนๆวิ่งด้วยความเร็วที่เตรียมตัวมาแล้ว เพื่อนๆสามารถวิ่งไปถึงช่วงกึ่งกลางการแข่งขันด้วยความรู้สึกแข็งแรง และอัศจรรย์ใจกับการแข่งขันในครึ่งหลังที่เพื่อนๆทำได้ทั้งที่ยังรู้สึกมีแรงเหลือและแข็งแรง นี่ไงล่ะ อัศจรรย์ของความพอดี
ขอให้เพื่อนนักวิ่งค้นพบการแข่งขันของตัวเองอย่างแท้จริงกันนะคะ
Recent Comments