Tag: Proprioception

การรับรู้ตำแหน่งของข้อต่อในนักวิ่ง (Proprioception)

การรับรู้ตำแหน่งของข้อต่อคือความสามารถของร่างกายในการตามรอยตำแหน่งของร่างกายว่าอยู่ในท่าใด สัมพันธ์กับโลกภายนอกอย่างไร และปรับตำแหน่งร่างกายให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมภายนอกนั้น ลองนึกถึงนักกีฬายิมนาสติกโอลิมปิกในขณะที่ตีลังกาลงมาจากคานทรงตัว ระบบประสาทของเขาจะต้องคิดถึงกระบวนการของการเคลื่อนไหวทั้งหมดในขณะที่หมุนตัวและหมุนสะโพก ปรับให้แขนขางอ และปรับตำแหน่งเท้าให้พร้อมสำหรับการวางเท้าหลังจากกระโดดลงมา การรับรู้ตำแหน่งของข้อต่อคือตัวนำทางการเคลื่อนไหวของร่างกายนั่นเองค่ะ เราใช้งานการรับรู้ตำแหน่งของข้อต่อทุกวันค่ะ ยกตัวอย่างเช่น ตอนเพื่อนๆเดินโดยที่ไม่ต้องก้มลงมองเท้าเลย หรือตอนที่เพื่อนๆพิมพ์คอมพิวเตอร์โดยไม่ต้องมองนิ้วเลย หรือแม้แต่ตอนที่เพื่อนๆวิ่ง การเคลื่อนไหวที่ต้องยกเท้าขึ้นพ้นพื้น และวางเท้าลงบนพื้นอีกครั้งหนึ่งอย่างปลอดภัยซ้ำแล้วซ้ำอีก ระบบการรับรู้ตำแหน่งของข้อต่อประกอบด้วยอวัยวะในหูชั้นใน และเส้นประสาทที่เชื่อมระหว่างกล้ามเนื้อ เส้นเอ็นกล้ามเนื้อ และเส้นเอ็นยึดข้อไปถึงระบบประสาทส่วนกลางค่ะ การทำงานของเส้นประสาทในระบบการรับรู้ตำแหน่งของข้อต่อขึ้นอยู่กับการวางตัวของข้อต่อ ความตึงตัวและการรับรู้แรงยืดของเส้นเอ็นกล้ามเนื้อ เส้นเอ็นยึดข้อและกล้ามเนื้อ ระบบประสาทส่วนกลางจะตอบสนองการรับรู้ตำแหน่งของข้อต่อด้วยการกระตุ้นให้กล้ามเนื้อหดตัวเพื่อพยุงหรือปรับท่าของร่างกายให้เหมาะสมต่อสิ่งแวดล้อมภายนอกกระแสประสาทนี้จะเดินทางไปกับเส้นประสาทที่เร็วที่สุดในร่างกาย ทำให้ได้ความเร็วถึง 390 ฟุตต่อวินาที การก้าวเท้าของเพื่อนๆถูกควบคุมโดยตัวรับรู้ตำแหน่งของข้อต่อซึ่งควบคุมการทรงท่า การเคลื่อนไหวของข้อต่อ การทรงตัว ความยาวก้าว และการวางเท้าลงบนพื้น ถ้าเพื่อนๆวางเท้าลงผิดท่าในช่วงการวิ่งบนพื้นขรุขระ ตัวรับรู้ตำแหน่งของข้อต่อจะส่งข้อมูลบอกระบบประสาทส่วนกลางทันที ซึ่งจะส่งสัญญาณกลับมาที่กล้ามเนื้อเพื่อหดตัวเตรียมพร้อมการวางเท้าให้ถูกต้องก่อนที่จะเกิดการบิดของข้อเท้า คำแนะนำการฝึกเพื่อการรับรู้ตำแหน่งของข้อต่อ การฝึกบนกระดานฝึกการทรงตัว (Wobble/balance board) คือวิธีที่ได้ผลในการพัฒนาการรับรู้ตำแหน่งของข้อต่อ การวิ่ง (โดยเฉพาะการวิ่งเท้าเปล่า) บนพื้นทรายนุ่มหรือบนพื้นหญ้าสามารถเพิ่มความชำนาญของระบบการรู้ตำแหน่งของข้อต่อได้เช่นกัน การเล่นกีฬาแบบคอร์ท เช่น เทนนิส แบดมินตัน เป็นอีกหนทางหนึ่งในการท้าทายตัวรับรู้ตำแหน่งของข้อต่อค่ะ ขอให้เพื่อนนักวิ่งมีการรับรู้ตำแหน่งของข้อต่อที่ดีพร้อมในการวางเท้าลงบนพื้นขณะวิ่งกันนะคะ