Explore the Knowledge for Runner
เพิ่งรู้ตัวว่าเวลาผ่านมา 2 เดือนแล้วนับจากงานวิ่ง “Bumrungrad 10 Hours International Ultra Marathon Suanpruek99 – 2019” จากความตั้งใจว่าจะเขียนรีวิวงานวิ่งทุกงาน เลยต้องมาจับแป้นคีย์บอร์ดลงมือรีวิวย้อนหลังค่ะ เราไปร่วมงานนี้เป็นครั้งที่ 2 หลังจากได้ร่วมงานปี 2018 ไปแล้ว และประทับใจบรรยากาศอบอุ่นของนักวิ่งและกลุ่มนักวิ่งต่างๆในสนาม จนถึงกับตั้งเป้าว่าจะมาทุกปี และหากเป็นไปได้ก็อยากจะได้วิ่ง Solo สักครั้งในชีวิต แต่ปีนี้เรามีเป้าหมายวิ่งฟูลมาราธอนในเดือนมิถุนายน และงานนี้อยู่ก่อนงานฟูล จึงต้องข้ามการวิ่ง Solo ไปวิ่งผลัดแทนก่อน ปีหน้าค่อยตั้งใจซ้อมมาใหม่ เราเริ่มตามหาผู้ร่วมทีม เข้าไปดูในกลุ่มวิ่งของโรงพยาบาล พบว่ายังมีทีมที่ขาดนักวิ่งอยู่ 1 ทีม มีน้องก้อย และน้องแจนอยู่แล้ว เราเลยเป็นคนที่ 3 และมีน้องดาวตามเข้ามาสมทบเป็นคนที่ 4 เป็นอันว่าครบทีม นี่คือทีมน้องพยาบาล 3 คนที่อยู่กันคนละแผนก ไม่เคยเจอกันมาก่อน คนหนึ่งอยู่ Academy อีกคนอยู่ ICU และคนสุดท้ายอยู่ ER ส่วนเราแหวกแนว เป็นนักกายภาพบำบัดหนึ่งเดียว เราตั้งกลุ่มไลน์ขึ้นมา และใช้ชื่อทีมว่า “หวานเย็นรันนิ่ง” ด้วยแนวคิดกลุ่มเราคือ วิ่งไปเรื่อยๆ เหนื่อยก็พอ ไม่สนเวลาจ้า เนื่องจากปีที่แล้วเป็นปีแรกที่ทางโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ที่เราทำงานอยู่เริ่มเป็นสปอนเซอร์หลักของงานนี้ เราเลยได้โควตานักวิ่งมาวิ่งฟรี และแต่ละคนที่มาก็ไม่เคยมาร่วมงาน เลยไม่ได้เตรียมอะไรไว้เลย ถึงเพิ่งรู้ว่ามันร้อนมาก มากชนิดเพลียขนาดไหนก็นอนไม่หลับ ปีนี้เราเลยคิดใหม่ทำใหม่ เตรียมตัวพร้อมก็จะสบายไปกว่าครึ่ง แรกๆเราเริ่มคุยกันในหมู่นักวิ่งก่อนว่าจะลงขันเตรียมซื้อของอะไรบ้าง คุยไปคุยมา ผู้ใหญ่ใจดีของโรงพยาบาล ช่วยจัดการให้หมดเลย ตั้งแต่เริ่มมีเต็นท์สำหรับนักวิ่งของโรงพยาบาล หลังจากนั้นก็ตามมาด้วยข้าว ขนม น้ำแข็ง น้ำผลไม้ น้ำเปล่า และน้ำเกลือแร่ เพราะทางโรงพยาบาลต้องจัดให้กับทีมแพทย์และพยาบาลที่มาปฏิบัติหน้าที่ให้กับงานนี้ด้วย เลยพ่วงพวกเราเข้าไปด้วย ทีนี้เราก็เริ่มสบายใจแล้ว ยังคุยกันว่าจะหาซื้อเต็นท์เปลี่ยนชุดมาใช้เปลี่ยน จะได้ไม่ต้องเข้าห้องน้ำเปลี่ยน และน้องแจนก็เป็นคนจัดหามาให้ เนื่องจากเรางานยุ่งมากจนไม่มีเวลาดูเลย นอกจากนั้น ยังมีขนมจากน้องๆมารวมๆกันอีก เลยทำให้เรื่องอาหารหายห่วงกันไปได้เลย ถึงวันงานเรานัดมาเจอกัน 5.00 น. รับเสื้อรับบิบกันเรียบร้อย บิบเรากลายเป็นผลัด 3 เลยขอเปลี่ยนกับน้องให้เป็นผลัด 1 ติดบิบให้เสร็จก็เป็นอันพร้อม พอเห็นเต็นท์ของเราเท่านั้นก็แทบจะก้มกราบคนเตรียมให้ คือนอกจากเต็นท์แล้ว ยังมีพัดลมตัวใหญ่ให้ 2 ตัวด้วย เรารับรู้อากาศร้อนของปีที่แล้วได้ดี แถมปีนี้อากาศร้อนกว่าปีที่แล้วด้วย การได้พัดลมมายิ่งทำให้เหมือนได้อยู่บนสวรรค์อย่างนั้นเลย เราเริ่มตั้งโต๊ะ วางขนม จัดที่ทางวางน้ำ มีหมอใจดีจากโรงพยาบาลนำกระติกน้ำแข็งมา ผู้จัดเตรียมเสื่อไว้ให้ด้วย เราเลยได้ที่นอนแบบสบายๆในมุมเล็กๆมุมหนึ่งของสวนไปเลยค่ะ เราวิ่งเป็นผลัดแรกของทีม ซึ่งจะปล่อยตัว 6.00 น. พอจัดที่ทางเสร็จ เราเลยรีบยืดเหยียดตัว วอร์มอัพ แล้วก็ไปรายงานตัวเตรียมปล่อยตัว ทีมเรามากันพร้อมแล้วก็ถ่ายรูปเก็บไว้เป็นที่ระลึกซะหน่อย ว ันนี้เราไม่ฟิต แถมเราเป็นคนกลัวอากาศร้อนด้วย ปีที่แล้วเราวิ่งไป 10 รอบในเวลา 2.30 ชั่วโมง ปีนี้เรากะไว้ว่าไม่รีบ เอาสัก 8 รอบก็พอใจแล้ว แถมคนในทีมก็ไม่ได้เคร่งเครียดกับการวิ่งอะไรมากเราเลยไม่กดดันเท่าไหร่ อาศัยความได้เปรียบของผลัดแรกที่พระอาทิตย์ยังไม่ขึ้นสูง 1 ชั่วโมงแรกวิ่งรักษาความเร็วให้ได้มากที่สุด แล้วหลังจากนั้น เมื่อแสงแดดก็เริ่มมาก็ให้เป็นไปตามสภาพในความรู้สึกว่าทำให้ดีที่สุด หากวิ่งทางด้านจุดปล่อยตัว จะค่อนข้างร้อน แต่ถ้าวิ่งไปอีกด้านที่ขนานกัน จะมีร่มเงามากหน่อย เราสังเกตว่าปีนี้คนน้อยกว่าปีก่อน คิดว่าคงเพราะอากาศปีนี้ร้อนอบอ้าวกว่าปีก่อนมาก แต่ซุ้มของกลุ่มนักวิ่งทั้งหลายก็ยังคึกคัก เราหวังฝากท้องน้ำดื่มกับเต็นท์ครูดิน เพราะอยู่หัวมุมของสวน เพราะเต็นท์เราไม่มีใครคอยเติมน้ำ เราไม่ได้เตรียมกระบอกน้ำของตัวเองมา แต่ของกินเราฝากท้องที่เต็นท์เราได้ นอกนั้นฝากท้องที่เต็นท์ต่างๆ เราจำได้ว่าปีที่แล้วมีมากมาย ปีนี้ไม่รู้จะมีอะไรบ้าง เราวิ่งผลัดเช้า พบว่าหลายเต็นท์ อาหารยังมาไม่ถึง ทำให้เราวิ่งถึงรอบท้ายๆแล้ว ถึงค่อยเห็นว่ามีของกินอะไรบ้าง เราตัดสินใจวิ่งให้จบ แล้วเดินเล่นอีกรอบ เพื่อกิน!! อีกหนึ่งข้อเสียของการวิ่งผลัดเช้าคือ ตากล้องน้อยมากๆๆๆ เราแทบไม่มีรูปเลย พี่ตากล้องที่รู้จักบอกว่า ส่วนใหญ่ไปถ่ายงานอื่นตอนเช้าก่อน เสร็จแล้วค่อยมาถ่ายที่นี่ต่อ เพราะที่นี่มีทั้งวัน เราก็เศร้าไป ปีที่แล้วพี่แจ็ค ผู้ใหญ่ใจดีของโรงพยาบาลมาช่วยเก็บภาพให้ แต่ปีนี้พี่แจ็คติดภารกิจ มาได้แค่ช่วงบ่าย เราก็เลยยิ่งเศร้าใหญ่เลย… Continue Reading “ความทุกข์เกิดขึ้นจริงเพียงครั้งเดียว แต่ความคิดเกิดวนเวียนซ้ำซากนับพันครั้ง (10 Hours Ultra Marathon)”
วันที่ 6 พ.ค. 2561 มีโอกาสได้เข้าร่วมงานวิ่งในตำนานที่มีชื่อว่า Bumrungrad 10-Hour Ultramarathon แห่งชมรมวิ่งสวนพฤกษ์ 99 ณ สวนนวมินทร์ภิรมย์ เนื่องจากเป็นงานที่ได้ชื่อว่าอัลตร้า และเราก็ไม่เคยคิดลงวิ่งอัลตร้า เลยไม่ได้สนใจอ่านรายละเอียด เพิ่งมารู้ว่ามีการวิ่งแบบทีมด้วย ทุกอย่างจึงใหม่หมดค่ะ ทั้งสถานที่ กติกา การเตรียมตัว เราไม่เคยร่วมงานลักษณะนี้เลยออกจะงงๆ เตรียมตัวไม่ค่อยถูก เนื่องจากทางโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ที่เรากำลังทำงานอยู่เป็นผู้สนับสนุนหลักของงาน จึงได้รับโควต้านักวิ่งผ่านมาทางชมรม Bumrungrad Running Club แรกๆเราคิดว่าจะขอไปเป็นอาสาสมัครบูธปฐมพยาบาลของโรงพยาบาล จึงไม่แจ้งความจำนงลงร่วมวิ่ง แต่ไปๆมาๆ ก็ได้รับการชักชวนมาวิ่งทีมจากทันตแพทย์ที่เป็นคนไข้ของเราเอง ด้วยความที่ทีมยังขาด 1 คน เลยยอมรับปากและคิดว่าขอวิ่งผลัดแรก แล้วค่อยไปช่วยที่บูธเอาละกัน เรามาดูโปรแกรมซ้อมมาราธอน ก็เป็นจังหวะดีที่วันนั้นจะต้องซ้อมวิ่งเวลา 2:15 ชั่วโมง และการวิ่งแข่ง 1 ผลัดก็ใช้เวลา 2:30… Continue Reading “ความเข้มแข็งที่สุดที่เรามี คือการไม่ยอมแพ้”
เพื่อนนักวิ่งหลายคนคงกำลังจะเริ่มต้นการวิ่งอัลตร้ามาราธอนครั้งแรก หรือไม่ก็อาจจะวิ่งมาได้หลายครั้งแล้ว ไม่ว่าเพื่อนๆจะวิ่งครั้งที่เท่าไรก็ตาม ไม่ว่าจะวิ่งเมื่อไรก็ตาม เพื่อนๆจะเจอกับเส้นทางวิ่งอย่างไร อากาศจะเลวร้ายขนาดไหน เพื่อนๆพร้อมกับมันมากน้อยเพียงใด เรามีคำแนะนำเล็กๆน้อยมาฝากในการเตรียมตัววิ่งอัลตร้ามาราธอนครั้งต่อไปของเพื่อนๆค่ะ 1. วิ่งช้าให้ได้ เคยมีคนกล่าวว่า การวิ่งอัลตร้ามาราธอนนั้นง่ายกว่าการวิ่งมาราธอน ใช่แล้วเพื่อนๆอ่านไม่ผิดหรอกค่ะ โดยทั่วไปเวลาเราวิ่งมาราธอน เรามักจะพยายามวิ่งให้เร็วเพื่อให้ได้สถิติที่ดีขึ้น แต่ถ้าเป็นอัลตร้ามาราธอน เราแค่วิ่งเพื่อให้ก้าวข้ามผ่านเส้นชัยให้ได้ การวิ่งอัลตร้ามาราธอนคือการพิสูจน์ความตั้งมั่นของจิตใจเพื่อนๆที่จะเอาชนะความเชื่อว่าร่างกายเพื่อนๆไม่สามารถทำได้ ดังนั้น จงหลีกเลี่ยงการตั้งเป้าหมายเพื่อให้ได้เวลาที่ดีขึ้น ใช่แล้วค่ะ อย่าสัญญาอะไรกับตัวเอง วิ่งช้าลงให้ได้ ถ้าเพื่อนๆเคยวิ่งมาราธอนมาได้แล้ว และฝึกซ้อมมาอย่างดี ก็ถือว่าสภาพร่างกายเพื่อนๆสามารถที่จะพิชิตระยะทางเกิน 50 กิโลเมตรได้ค่ะ เพื่อนๆไม่จำเป็นต้องฝึกซ้อมให้วิ่งนานขึ้น หรือหนักขึ้นเพื่อเห็นผลความแตกต่าง หากเพื่อนๆยังมีวินัยในการเติมพลังงานให้ตัวเองระหว่างวิ่ง มีจังหวะการก้าวและความเร็วที่สม่ำเสมอ เร็วตอนปล่อยตัวเท่าไร เข้าเส้นชัยเท่านั้น และไม่ทำลายวินัยเหล่านั้น เพื่อนๆจะสามารถประสบความสำเร็จในอัลตร้ามาราธอนได้แน่นอนค่ะ หากเพื่อนๆวิ่งเทรล ช่วงของการขึ้นเขา เพื่อนๆอาจก้าวสั้นลง ผ่อนแรงลง หรือแม้จะเดินก็ได้ ไม่ผิดกติกาแต่อย่างใด เพื่อนๆควรหาเครื่องมืออะไรก็ได้ที่ทำให้เพื่อนๆวิ่งได้ช้าลง อาจใช้นาฬิกาจับชีพจรหัวใจให้อยู่ในโซนที่กำหนด โดยเฉพาะโซน 2 เพื่อการถนอมพลังงาน และการเก็บไกลโคเจนเข้าร่างกายได้ดีขึ้น หากเพื่อนๆได้ซ้อมมาแบบนี้ การวิ่งเพิ่มระยะทีละน้อยจนถึงเส้นชัย ก็ไม่เป็นการยากเกินไปค่ะ อีกหนึ่งประโยชน์ของการวิ่งช้าคือ โอกาสบาดเจ็บน้อยลง ร่างกายเพื่อนๆสามารถฟื้นตัวหลังวิ่งได้ดีขึ้น ใช้เวลาในการฟื้นตัวน้อยลง 2. เพิ่มการออกกำลังเพื่อความแข็งแรงเข้าไปในโปรแกรมการฝึกซ้อม ถ้าเพื่อนๆจะวิ่งอัลตร้ามาราธอนในเร็ววันนี้ วิธีการนี้ก็อาจจะช้าเกินไป แต่ถ้ามีแผนจะวิ่งในอีกไม่กี่เดือนนี้ การเพิ่มการออกกำลังเพื่อเสริมกล้ามเนื้อให้แข็งแรงเข้าไปในโปรแกรมการฝึกซ้อมนี้ ก็ถือว่าคุ้มค่าที่จะทำค่ะ ถึงแม้ว่าการวิ่งระยะทางไกล เพื่อนๆต้องใช้แรงหดตัวจากกล้ามเนื้อแบบหดตัวช้า และการฝึกความแข็งแรงเป็นการสร้างกล้ามเนื้อแบบหดตัวเร็ว แต่เมื่อกล้ามเนื้อมีความแข็งแรงที่เพียงพอแล้ว จะสามารถช่วยให้การใช้งานกล้ามเนื้อแบบหดตัวช้าทำงานได้ดีขึ้น นอกจากนี้ การวิ่งเพียงอย่างเดียวอาจไม่เป็นผลดีต่อกล้ามเนื้อที่ถูกใช้งานซ้ำๆด้วย เพื่อนๆจึงควรรวมการออกกำลังกายชนิดอื่นเข้าไปในโปรแกรมการฝึกซ้อมด้วย เช่น มวยไทย หรือการขี่จักรยาน การยกน้ำหนัก ซึ่งยังช่วยลดโอกาสเกิดการบาดเจ็บได้ด้วย 3. การใช้โฟมโรลเลอร์ ยิ่งเพื่อนๆวิ่งนานเท่าไร เพื่อนๆยิ่งต้องดูแลร่างกายที่เพื่อนๆใช้มากขึ้นเท่านั้น โฟมโรลเลอร์เป็นอุปกรณ์ช่วยที่มหัศจรรย์ที่สุดในราคาที่ไม่แพงและคุ้มค่า การกลิ้งตัวบนโฟมโรลเลอร์คือการนวดด้วยตัวเองดีๆนี่เอง เพื่อนๆอาจรวมโปรแกรมนี้เข้าไปในโปรแกรมการฝึกซ้อม 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์ ครั้งละประมาณ 20-30 นาที หรือถ้าจะวิ่งในวันพรุ่งนี้แล้ว การใช้โฟมโรลเลอร์ในวันก่อนการวิ่ง จะช่วยให้กล้ามเนื้อเพื่อนๆผ่อนคลาย พร้อมรับการใช้งานในวันรุ่งขึ้นได้ดีค่ะ 4. เตรียมพลังงานพกพาให้พร้อม การทานพลังงานเสริมตามที่ร่างกายต้องการในเวลาที่เหมาะสมเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากสำหรับนักวิ่งอัลตร้ามาราธอน อย่าหวังน้ำบ่อหน้าเด็ดขาด ยกเว้นแต่ว่าเพื่อนๆมั่นใจมากว่าผู้จัดได้เตรียมทุกอย่างให้พร้อมและเพียงพอต่อจำนวนนักวิ่งได้จริงๆ การใส่เป้น้ำพร้อมพลังงานเสริมระหว่างการวิ่งไม่ใช่เรื่องเกินไป ยิ่งถ้าเพื่อนๆวิ่งเทรลแล้วล่ะก็ แค่สถานีน้ำสักหนึ่งสถานีบนภูเขาสูงก็แทบจะเป็นไปได้ยากเพื่อนๆอาจลองพิจารณาอาหารแข็งที่ให้พลังงานได้ดีกว่าแทนอาหารเหลว โดยไม่ต้องกลัวว่ากระเพาะจะมีปัญหา เพราะเพื่อนๆจะวิ่งช้ากว่าระยะมาราธอน และกระเพาะก็สามารถย่อยอาหารได้โดยไม่ทำให้อืดท้องค่ะ บางงานวิ่งที่ต่างประเทศ ได้จัดเตรียมพาสต้า เค้ก และน้ำปั่นไว้ให้กับนักวิ่งเลยด้วยซ้ำ เพื่อนๆอาจจะไม่แปลกใจเมื่อพบว่า ตัวเองรับประทานมันอย่างจริงจัง เพราะร่างกายเพื่อนๆต้องการพลังงานลักษณะนั้นจริงๆนั่นเอง แต่จริงๆแล้ว ร่างกายเพื่อนๆเองนั่นแหละ ที่จะบอกเพื่อนๆว่ามันต้องการอะไรค่ะ แต่การจะทำเช่นนั้นได้ คงต้องใช้การฝึกฝนพอสมควร และอย่างน้อยๆ เราพอสรุปให้ได้ว่า ร่างกายเพื่อนๆต้องการมากกว่าเจลพลังงาน เกลือแร่ หรือขนมหวาน เพื่อนๆอาจเริ่มลองเป็นแท่งกราโนล่า ข้าวปั้น หรือแซนวิชแทนได้นะคะ ไม่ว่าจะรับประทานอะไร เพื่อนๆต้องแน่ใจว่าตัวเองได้เติมพลังงานให้ร่างกาย 120-240 แคลอรี่ทุกชั่วโมง 5. เตรียมน้ำดื่มให้พร้อม น้ำดื่มเป็นสิ่งสำคัญที่สุด และเช่นกัน อย่าหวังน้ำบ่อหน้าของแท้ เป้น้ำเป็นสิ่งจำเป็น อาจเลือกเป็นน้ำดื่มผสมเกลือแร่ ยิ่งเพื่อนๆวิ่งนานเท่าไร โอกาสเสี่ยงที่จะเกิดภาวะร่างกายขาดน้ำมีสูงมากเท่านั้นดังนั้น เพื่อนๆจึงควรฝึกซ้อมการดื่มน้ำให้เพียงพอต่อร่างกายต้องการ หาน้ำดื่มเกลือแร่ที่มีส่วนผสมของน้ำตาลน้อยและมีเกลือแร่สูง ดื่มประมาณ 200-600 มิลลิลิตรทุกชั่วโมง ปริมาณนี้ขึ้นอยู่กับร่างกายแต่ละคนค่ะ 6. เตรียมเป้น้ำให้พร้อม การรักษาสมดุลสิ่งของในเป้น้ำให้ดีคือเคล็ดลับแห่งความสำเร็จค่ะ ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์จุกจิก พลังงานเสริม หรือน้ำดื่ม และยังเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล เพราะฉะนั้น อะไรก็ตามที่เหมาะกับคนคนหนึ่งไม่ได้หมายความว่าจะเหมาะกับคนอีกคนหนึ่ง ซึ่งเพื่อนๆจะรู้ได้ก็ต่อเมื่อเพื่อนๆมีประสบการณ์ ฝึกฝน และได้ทดลองด้วยตัวเองมาแล้ว และรู้แล้วว่าอะไรเหมาะหรือไม่เหมาะกับเพื่อนๆ อย่างน้อยในช่วงเวลา 1 เดือนก่อนหน้าการแข่งขัน เพื่อนๆอาจลองจดสิ่งที่ทานหรือดื่ม และดูว่าอะไรเหมาะกับเพื่อนๆ เพื่อจะได้เตรียมตัวให้ถูกต้อง เพื่อลดแรงกดดันต่อตัวเองค่ะ อุปกรณ์อื่นๆที่จำเป็นในเป้น้ำ คือพลาสเตอร์ปิดตุ่มน้ำ เทปติดกล้ามเนื้อ อุปกรณ์ปฐมพยาบาลขั้นพื้นฐาน ทิชชูเปียก แผนที่ (ถ้าวิ่งเทรล เผื่ออุปกรณ์ดิจิตอลมีปัญหา) กระเป๋ากันน้ำพกพา โทรศัพท์มือถือ และแบตเตอรี่สำรอง หากต้องวิ่งเทรล ถุงซิปล็อคเพื่อกันน้ำ ไฟฉายคาดศีรษะถ้าวิ่งกลางคืน หมวกกันแดด แว่นกันแดด ขี้ผึ้งทาตัวกันเสียดสี ยาแก้ท้องเสียเฉียบพลัน ยาแก้ปวด ครีมกันแดด ลิปมัน 7. เตรียมใจให้พร้อมถึงช่วงดีที่สุดและแย่ที่สุด ถ้าเพื่อนๆคิดว่าความแปรปรวนทางอารมณ์ในการวิ่งมาราธอนนี่แย่แล้ว การวิ่งอัลตร้ามาราธอนยิ่งมากกว่ามาก ความรู้สึกแตกต่างอย่างมากระหว่างความรู้สึกดีสุดๆ กับความรู้สึกแย่สุดๆสามารถเกิดขึ้นได้ระหว่างทางวิ่ง บางช่วงเวลาเพื่อนๆอาจจะรู้สึกไม่อยากก้าวขาวิ่งเอาซะเลย แต่บางช่วงเวลาเพื่อนๆสามารถวิ่งได้อย่างกับบินอยู่ นี่คือความมหัศจรรย์ที่ร่างกายเพื่อนๆทำได้ ดังนั้น จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่เพื่อนๆจะฝึกจิตใจตนเองให้พร้อมพบเจอกับสภาวะเหล่านั้น ว่ากันตามจริงแล้ว เพื่อนๆควรฝึกให้มีสติอยู่กับปัจจุบันขณะที่วิ่งนั้นให้ได้ แล้วเพื่อนจะสามารถก้าวพ้นผ่านทุกอย่างไปได้ด้วยดี ความตั้งมั่นและตั้งใจจะเป็นเหมือนตัวขับเคลื่อนร่างกายของเพื่อนๆให้ก้าวไปข้างหน้าทีละก้าว และสติจะเป็นเพื่อนตาย คือ อยู่กับเพื่อนๆในทุกเวลาของความรู้สึกท้อ เอาล่ะค่ะ พอจะช่วยให้เพื่อนๆเตรียมตัวได้ดีขึ้นสำหรับอัลตร้ามาราธอนครั้งต่อไปนะคะ การเตรียมตัวฝึกซ้อมในทุกแง่มุมของอัลตร้ามาราธอน ไม่ว่าจะเป็น ชุดแข่งขัน รองเท้าวิ่ง การทานอาหาร การดื่มน้ำ จะเป็นตัวบ่งบอกความสำเร็จที่แท้จริง อย่าทดลองอะไรใหม่ๆในวันแข่งขันนะคะ ขอให้เพื่อนนักวิ่งประสบความสำเร็จกับอัลตร้ามาราธอนของตัวเองกันนะคะ
Recent Comments