ถุงน้ำกันเสียดสีบริเวณเอ็นร้อยหวายอักเสบ (Achilles Bursitis/Retrocalcaneal bursitis)

ถุงน้ำกันเสียดสี มีลักษณะเหมือนถุงน้ำที่มีน้ำอยู่ข้างในขนาดเล็กที่วางตัวอยู่ระหว่างเส้นเอ็นกล้ามเนื้อและกระดูกเพื่อช่วยให้เส้นเอ็นสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างราบรื่นบนกระดูก ซึ่งถุงน้ำที่พูดถึงอยู่นี้วางตัวอยู่ระหว่างเอ็นร้อยหวายและกระดูกส้นเท้า หากมีการเสียดสีซ้ำๆเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดการอักเสบขึ้นมาได้ ภาวะถุงน้ำกันเสียดสีบริเวณเอ็นร้อยหวายอักเสบมักพบในนักวิ่งเป็นส่วนใหญ่ อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นเอ็นร้อยหวายอักเสบได้ หรืออาจเกิดพร้อมกับอาการเอ็นร้อยหวายอักเสบได้เช่นกันค่ะ หากเกิดพร้อมกันเราจะเรียกว่า Haglund’s Syndrome

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดอาการ

  1. การเพิ่มความหนักอย่างมากในตารางการฝึกซ้อม
  2. การเพิ่มระดับกิจกรรมทางกายที่มากขึ้นโดยที่ร่างกายยังไม่พร้อม
  3. มีการเปลี่ยนแปลงระดับกิจกรรมทางกาย
  4. มีประวัติข้ออักเสบ

อาการ

ปวดด้านหลังส้นเท้า โดยเฉพาะเมื่อวิ่งขึ้นเนินหรือวิ่งบนพื้นนุ่ม หรือเมื่อทำท่าเขย่งเท้า สาเหตุอาการปวดมาจากถุงน้ำกันเสียดสีระหว่างเอ็นร้อยหวายและกระดูกส้นเท้าอักเสบ จะพบจุดกดเจ็บและบวมที่ด้านหลังส้นเท้า ซึ่งทำให้ใส่รองเท้าได้ลำบาก หากใช้นิ้วกดเปรียบเทียบกับอีกข้าง จะรู้สึกมีแรงต้านคล้ายกดฟองน้ำ แตะบริเวณที่เจ็บแล้วอุ่นหรือผิวมีสีแดง แสดงว่ามีการอักเสบเกิดขึ้นแล้ว

การออกกำลังกาย (ควรปรึกษานักกายภาพบำบัด)

การยืดกล้ามเนื้อน่องแบบ AIS

ท่ายืนเขย่งเท้าบนพื้นราบ

การดูแลเพิ่มเติม

  1. การใช้น้ำแข็งหลังการวิ่งอาจช่วยลดอาการอักเสบเรื้อรังได้ ควรประคบน้ำแข็งครั้งละ 15 – 20 นาที วันละ 3 – 4 ครั้ง อย่าประคบน้ำแข็งโดยตรงที่ผิวหนัง เพราะอาจทำให้เกิดการไหม้จากน้ำแข็งได้ ให้ห่อด้วยผ้าชื้นชั้นหนึ่งก่อน การใช้แผ่นเจลเย็นที่มีขายอยู่ทั่วไปจะสะดวกสบายกว่า
  2. การเทปพยุงสามารถช่วยได้ โดยเทปร่วมกับแผ่นฟองน้ำรองรูปโดนัทเพื่อลดแรงกดจากการใส่รองเท้า
  3. การเปลี่ยนไปใช้รองเท้าที่ไม่คลุมส้นเท้าชั่วคราวก่อนในช่วงที่พักจากการวิ่ง และเมื่อกลับมาวิ่งใหม่ อาจต้องเปลี่ยนรองเท้าให้สามารถรองรับแรงกระแทกที่ส้นเท้าได้ดี หรือเปลี่ยนเป็นรองเท้าที่หลวมขึ้นเล็กน้อย ไม่ให้พอดีเท้าเกินไปจนเกิดการเสียดสี หลีกเลี่ยงรองเท้าที่ไม่มีเชือกรองเท้า เพราะรองเท้าชนิดนี้จะถูกออกแบบให้กระชับกับเท้า และมีการกดที่บริเวณส้นเท้าได้ง่าย สามารถใช้แผ่นเจลรองส้นเท้าเพื่อยกส้นเท้าให้สูงขึ้น ช่วยลดการกดถูกส้นเท้าด้วยรองเท้าบริเวณที่หุ้มส้น และควรใส่ทั้งสองข้างเพื่อลดการเกิดปัญหาที่อาจเกิดจากความยาวขาไม่เท่ากัน
  4. การรักษาทางการแพทย์ แพทย์อาจพิจารณาให้ยาต้านการอักเสบ เช่น ไอบูโพรเฟน เพื่อลดอาการปวดและการอักเสบ การฉีดสเตียรอยด์ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งหากมีอาการมากตลอดเวลา และการผ่าตัดเป็นทางเลือกสุดท้าย แต่การผ่าตัดก็พบได้น้อยมากๆค่ะ
  5. การรักษาทางกายภาพบำบัด อาจใช้เครื่องอัลตร้าซาวน์เพื่อลดอักเสบและลดปวด การใช้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้ากระแสเทนส์ (TENS) หรือไมโครเคอร์เรนท์ ช่วยลดปวดได้ และการออกกำลังกายตามที่กล่าวข้างบน

ขอให้เพื่อนนักวิ่งวิ่งได้โดยไม่มีอาการเจ็บส้นเท้านะคะ

Leave a comment