Explore the Knowledge for Runner
นักวิ่งแต่ละคนมีประสบการณ์ปวดกล้ามเนื้อและการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อกันหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่อาการล้าหลังจากการฝึกฝน หรือแค่อาการเมื่อย ไปจนถึงการบาดเจ็บเฉียบพลันที่รุนแรง มันจึงเป็นการยากมากที่จะถอดรหัสว่าเกิดอะไรลึกๆขึ้นในกล้ามเนื้อกันแน่ หนึ่งในสาเหตุที่มักจะถูกมองข้าม อย่างเช่นความรู้สึกไม่สบายที่ขาท่อนล่างจากภาวะความดันในโพรงกล้ามเนื้อสูงที่เราจะพูดถึงกันในต่อจากนี้ หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า Compartment Syndrome ซึ่งมักเป็นอาการปวดที่มักจะวินิจฉัยผิดว่าเป็นสันหน้าแข้งอักเสบ (Shin splint) และกระดูกหน้าแข้งหักล้า (Tibial stress fracture)
ภาวะนี้ถูกตั้งชื่อตามตำแหน่งที่เกิดปัญหา นั่นก็คือโพรงกล้ามเนื้อ (Compartment) หรือช่องว่างระหว่างกล้ามเนื้อขา กระดูก และเนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่หุ้มกล้ามเนื้อนั้นอยู่ กล้ามเนื้อขาเราแบ่งออกเป็น 4 โพรงใหญ่ แต่ละโพรงจะมีแผ่นเนื้อเยื่อเกี่ยวพันห่อหุ้มอยู่ทำให้เกิดการแยกกล้ามเนื้อออกเป็นกลุ่มๆ ยกตัวอย่างเช่น กล้ามเนื้อหน้าแข้ง จะอยู่ในโพรงทางด้านหน้า ในขณะที่กล้ามเนื้อน่องอยู่ในโพรงทางด้านหลัง
กระดูกหน้าแข้งจะถูกขนาบสองด้านด้วยกล้ามเนื้อขา กลุ่มกล้ามเนื้อที่แนบอยู่ทางด้านนอกของกระดูกหน้าแข้งนี้จะถูกห่อหุ้มด้วยเนื้อเยื่อเกี่ยวพันเพื่อจัดให้เป็นชุดๆในแต่ละโพรงไป ซึ่งกล้ามเนื้อในโพรงด้านหน้าเราจะเรียกว่า Anterior compartment (Anterior แปลว่าข้างหน้าค่ะ) และแน่นอนว่าจะต้องมีชุดกล้ามเนื้อที่อยู่ทางด้านหลังด้วย เราเรียกว่า Posterior compartment (Posterior แปลว่าข้างหลังค่ะ) แต่ชุดกล้ามเนื้อทางด้านหลังนั้นถูกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มลึก และกลุ่มตื้น
กลุ่มโพรงกล้ามเนื้อทางด้านหน้ามีโอกาสเกิดภาวะความดันในโพรงกล้ามเนื้อสูงมากที่สุด คือ 95% นั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี เพราะโพรงกล้ามเนื้อทางด้านหลังรักษาได้ยากกว่ามาก กลุ่มโพรงกล้ามเนื้อทางด้านหน้าจะมีกระดูกหน้าแข้งเป็นขอบเขตอยู่ทางด้านใน กระดูกน่อง หรือชื่อภาษาอังกฤษว่า Fibula อยู่ทางด้านหลัง มีกล้ามเนื้อหลักๆ 3 มัดที่อยู่ในโพรงนี้คือ กล้ามเนื้อหน้าแข้ง (Tibialis anterior) กล้ามเนื้อเหยียดนิ้วเท้ามัดยาว (Extensor digitorum longus) และกล้ามเนื้อเหยียดนิ้วหัวแม่เท้ามัดยาว (Extensor hallucis longus) โครงสร้างทั้งหมดถูกห่อหุ้มด้วยเนื้อเยื่อเกี่ยวพันผืนเดียวกัน เมื่อกระดูก 2 ชิ้นเป็นของแข็ง จึงไม่มีความยืดหยุ่นเพียงพอ ผลก็คือ ไม่มีพื้นที่ว่างมากพอให้กล้ามเนื้อขยายออกทางด้านข้างได้ นี่อาจเป็นปัญหาในช่วงเริ่มต้นการวิ่งเมื่อเลือดไหลไปที่บริเวณนั้นมากขึ้น
ภาวะความดันในโพรงกล้ามเนื้อเกิดมาจากการที่ปริมาตรกล้ามเนื้อเพิ่มมากขึ้นจากการออกกำลังกาย จนทำให้ความดันในโพรงกล้ามเนื้อที่ถูกห่อหุ้มด้วยเนื้อเยื่อเกี่ยวพันสูงขึ้น หากยังคงสามารถขยายได้อยู่ เพื่อนๆอาจแค่รู้สึกไม่สบายขาจากการเพิ่มขนาดของกล้ามเนื้อไปจนถึงขั้นทำให้เนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่หุ้มรอบตัวกล้ามเนื้อเริ่มตึง แต่หากเพิ่มขึ้นมากจนผิดปกติ จะไปกดเส้นเลือด ทำให้เลือดไหลมาที่กล้ามเนื้อน้อยลงทำให้เกิดอาการบวมและปวดมากขึ้น
ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกายแบบใดก็ตาม ล้วนแต่เพิ่มการไหลเวียนเลือดไปที่กล้ามเนื้อขาส่วนล่างทั้งสิ้น โดยเฉพาะการวิ่ง แต่ถ้าไม่มีพื้นที่เพียงพอให้กับกล้ามเนื้อได้ขยายขนาด และพื้นที่นั้นไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับการเพิ่มขึ้นของการไหลเวียนเลือดได้ ท้ายที่สุด ปริมาณออกซิเจนไปเลี้ยงกล้ามเนื้อจึงไม่เพียงพอ ส่งผลให้เกิดอาการปวด จนนักวิ่งถูกผลักดันให้หยุดวิ่งได้
เนื่องจากภาวะความดันในโพรงกล้ามเนื้อสูงสามารถเกิดขึ้นในโพรงกล้ามเนื้อส่วนใดส่วนหนึ่งของทั้งสี่ส่วนได้ ดังนั้นอาการจะเกิดได้หลากหลายขึ้นอยู่กับว่าเป็นที่โพรงกล้ามเนื้อส่วนไหน ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่าภาวะความดันในโพรงกล้ามเนื้อสูงจะเกิดที่ด้านหน้ามากที่สุด และรองลงมาคือทางด้านนอก จึงทำให้มีอาการที่บริเวณด้านหน้าขาใกล้ๆกับด้านนอกหน้าแข้งมากที่สุด ซึ่งอาการจะต่างจากอาการของสันหน้าแข้งอักเสบ (Shin splint) ที่จะปวดอยู่ข้างในกระดูกทางด้านหน้า และถ้าเป็นที่โพรงกล้ามเนื้อขาด้านหลัง ไม่ว่าจะเป็นชั้นลึกหรือชั้นตื้น จะมีอาการที่บริเวณน่อง
อาการปวดและชาที่เกิดจากความดันในกล้ามเนื้อเพิ่มมากขึ้นนั้นจะมีอาการปวดระหว่างการวิ่ง และค่อยๆลดลงหลังจากหยุดวิ่งประมาณครึ่งชั่วโมง ถึงหนึ่งชั่วโมง อาการปวดอาจมากจนเป็นสาเหตุทำให้เพื่อนๆต้องหยุดวิ่ง ไม่เหมือนกับอาการของสันหน้าแข้งอักเสบ (Shin splint) ที่จะมีอาการปวดก่อนการวิ่ง และมักจะมีอาการไปตลอดการวิ่ง รวมทั้งอาจปวดมากขึ้นเรื่อยๆเมื่อวิ่งมากขึ้นและนานขึ้น แต่จะค่อยๆปวดลดลงหลังจากหยุดวิ่งไปแล้ว
อาการเด่นของภาวะความดันในโพรงกล้ามเนื้อสูงคือ รู้สึกยึดติดแข็ง ปวด เป็นตะคริว ตึง และบวม บริเวณกล้ามเนื้อที่มีปัญหา อาการอาจจะเกิดขึ้นหลังจากที่เพื่อนๆเพิ่มระยะทางหรือระยะเวลาในการวิ่ง ในนักวิ่งหลายคนอาจรู้สึกไม่มีแรงเมื่อกระดกข้อเท้าขึ้น และเมื่อกดปลายเท้าลง อาจมีอาการปวดแสบร้อน ชา ยิบๆ เย็น และรู้สึกเป็นก้อน ติดยึดที่กล้ามเนื้อตลอดตั้งแต่ขาล่างไปจนถึงปลายเท้า
จำนวนนักวิ่งที่เกิดภาวะความดันในโพรงกล้ามเนื้อสูงและเกิดขึ้นพร้อมกันสองข้างจะมีประมาณ 60% – 80% นี่เป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ เพราะทำให้รู้ว่าการปวดที่ขาท่อนล่างพร้อมกันสองข้างมีแนวโน้มจะเป็นภาวะความดันในโพรงกล้ามเนื้อสูงได้มาก ในขณะที่การบาดเจ็บชนิดอื่น เช่น สันหน้าแข้งอักเสบ (Shin splint) และกระดูกหน้าแข้งหักล้า (Tibial stress tracture) จะเกิดพร้อมกันสองข้างได้น้อยมาก
อาการปวดจากภาวะความดันในโพรงกล้ามเนื้อสูงนั้น อาจคล้ายกับอาการที่เกิดจากการบาดเจ็บของเส้นประสาทได้ ในนักวิ่งบางคนเส้นประสาทที่วิ่งผ่านโพรงกล้ามเนื้อนั้นมีโอกาสได้รับการบาดเจ็บโดยถูกกดจากความดันที่มากขึ้นไปด้วย ดังนั้นเพื่อนๆอาจมีอาการชาด้านๆ ยิบๆ หรือมีความรู้สึกเหมือนมีเข็มมาทิ่มได้ หรืออาการอื่นๆที่บ่งบอกว่ามีการบาดเจ็บของเส้นประสาท
มาถึงตอนนี้เพื่อนๆที่มีอาการปวดที่หน้าแข้งคงเริ่มสำรวจอาการตัวเองบ้างแล้ว แต่อย่าเพิ่งตกใจไป ยังต้องมาดูกันอีกว่า สาเหตุของภาวะความดันในโพรงกล้ามเนื้อสูงนั้นมาจากอะไรได้บ้าง มีปัจจัยเสี่ยงอะไรที่สนับสนุนให้เป็นได้ง่าย และแพทย์จะทำการวินิจฉัยให้ถูกต้องได้อย่างไร
ในนักวิ่งสาเหตุการเกิดภาวะความดันในโพรงกล้ามเนื้อสูงมักมาจากการใช้งานกล้ามเนื้อที่มากเกินไปค่ะ ปัญหามักเกิดเมื่อมีการใช้งานกล้ามเนื้อซ้ำๆกันเป็นเวลานาน เกิดได้ในนักวิ่งทั้งสองเพศ และมักเกิดในนักวิ่งที่มีรูปร่างผอมบาง และมีความฟิตมาก แต่สัดส่วนไขมันในร่างกายน้อย
การฝึกซ้อมที่ผิดพลาดก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งของอาการนี้ การเพิ่มระยะทางในการวิ่งที่เร็วเกินไป การเพิ่มการวิ่งแบบอินเทอร์วอล หรือการวิ่งเร่งมากเกินกว่าที่เนื้อเยื่ออ่อนจะปรับตัวได้กับการฝึกซ้อมพื้นฐาน จึงมักเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อย โชคร้ายหน่อยที่นักวิ่งบางคนมีโครงสร้างร่างกายที่มีแนวโน้มว่าเนื้อเยื่อหุ้มกล้ามเนื้อจะยึดติดได้ง่าย ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของการเพิ่มความดันในโพรงกล้ามเนื้อได้
ภาวะความดันในโพรงกล้ามเนื้อสูงถือว่าพบได้น้อยในนักวิ่ง คือ 1.4% จากการบาดเจ็บของนักวิ่งทั้งหมด ซึ่งได้ข้อมูลมาจากงานวิจัยเพียงแค่งานเดียว ดังนั้นข้อมูลของปัจจัยเสี่ยงจึงมีไม่มากนัก เท่าที่พอทราบคือ สามารถพบในนักกีฬาที่อายุน้อย มีงานวิจัยหนึ่งที่ระบุเลยว่าอายุ 20 ปี เนื่องจากขนาดของโพรงกล้ามเนื้อได้ถูกจำกัดไว้คงที่เมื่อเพื่อนๆโตเต็มที่แล้ว จึงดูสมเหตุสมผลที่จะบอกว่า เมื่อร่างกายหยุดการเติบโตและเพื่อนๆนักวิ่งที่อายุน้อยยังคงวิ่งต่อ จึงอาจเป็นสาเหตุของปัญหาได้ และทั้งผู้ชายและผู้หญิงมีความเสี่ยงต่อการเป็นได้เท่าๆกัน
มีบางงานวิจัยระบุว่านักวิ่งที่วิ่งวางส้นเท้าลงก่อน และนักวิ่งที่ก้าวขายาวมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะความดันในโพรงกล้ามเนื้อสูงทางด้านหน้ามาก เนื่องจากการวิ่งวางส้นเท้าลงก่อนนั้นต้องใช้แรงกล้ามเนื้อทางด้านหน้าในการกระดกข้อเท้าขึ้นมากกว่านักวิ่งที่วิ่งด้วยการวางปลายเท้าลงก่อน (ซึ่งอาจจะมีผลกลับกัน คือนักวิ่งที่วางปลายเท้าลงก่อนก็อาจจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะความดันในโพรงกล้ามเนื้อสูงทางด้านหลัง เพียงแต่ยังไม่มีงานวิจัยยืนยัน)
การวินิจฉัยโรคนี้อาจทำได้ยาก และมักสับสนกับการบาดเจ็บอย่างอื่นได้ เช่น สันหน้าแข้งอักเสบ (Shin splint) และกระดูกหน้าแข้งหักล้า (Stress fracture) ที่สามารถพบได้ง่ายกว่ามาก แม้ข้อมูลอาการที่ได้กล่าวมาจะสามารถช่วยเพื่อนๆสำรวจการบาดเจ็บของตัวเองได้เบื้องต้น แต่ก็ยังต้องขอย้ำความสำคัญกับเพื่อนๆในเรื่องการไปพบแพทย์เพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้อง
เพื่อนๆอาจต้องได้รับการถ่ายภาพฉายรังสีเพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้อง ยกตัวอย่างเช่น ภาวะกระดูกหน้าแข้งหักล้านั้นแทบจะวินิจฉัยไม่ได้เลยหากไม่มีผลจากการอ่านภาพฉายรังสีเอ็มอาร์ไอ และการตรวจสแกนกระดูก และอาการปวดจากกล้ามเนื้อหน้าแข้งอักเสบ ก็ดูเหมือนกับอาการปวดจากภาวะความดันในโพรงกล้ามเนื้อสูงเช่นกัน ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นการบาดเจ็บใดๆที่บริเวณขาท่อนล่าง ที่ทำให้เกิดอาการบวม ชา แสบร้อน ยิบๆ จึงไม่ควรถูกมองข้ามทั้งสิ้น เพราะอาการเหล่านี้ ไม่ใช่อาการที่พบเจอได้โดยทั่วไป มีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่ามีนักวิ่งที่มีอาการภาวะความดันในโพรงกล้ามเนื้อสูงนานหลายเดือนกว่าจะไปพบแพทย์ เพราะเข้าใจว่าเป็นอาการกล้ามเนื้ออักเสบ
เมื่อแพทย์สามารถตัดอาการของการบาดเจ็บอื่นๆ โดยเฉพาะอาการของสันหน้าแข้งอักเสบ (Shin splint) และกระดูกหน้าแข้งหักล้า (Tibial stress fracture) ออกไปได้แล้ว แพทย์จึงจะสามารถใช้การตรวจที่เฉพาะเจาะจงต่อการวินิจฉัยภาวะความดันในโพรงกล้ามเนื้อสูงได้ การตรวจนี้ แพทย์จะให้เพื่อนๆวิ่งบนลู่วิ่งจนเริ่มมีอาการปวด แล้วจึงจิ้มเข็มเข้าไปที่โพรงกล้ามเนื้อที่สงสัยว่าเป็น และใช้เครื่องมือเฉพาะที่มีมาตรวัดระดับความดันทำการวัดความดันในโพรงกล้ามเนื้อ หากพบความดันสูงขึ้น ถือว่าเป็นสัญญาณว่าเกิดภาวะความดันในโพรงกล้ามเนื้อสูง โดยทั่วไปแล้ว ความดันควรลดลงสู่ระดับปกติหลังจากที่หยุดวิ่งแล้วภายใน 1 นาที แต่สำหรับคนที่มีภาวะความดันในโพรงกล้ามเนื้อสูงนั้น ความดันจะยังสูงต่อเนื่องไปอีก 5 – 10 นาที
เพื่อนๆมีทางเลือกแค่ 2 ทางเลือกในการรักษาภาวะความดันในโพรงกล้ามเนื้อสูงคือ การพักยาว และการผ่าตัด
ความหมายของการพักยาว คือการไม่วิ่งเลย 3-4 เดือน หลังจากการพักแล้ว ให้ค่อยๆเริ่มวิ่งอย่างช้าๆ ถ้าเพื่อนๆไม่มีอาการปวด นั่นอาจเป็นจุดจบของปัญหาได้ แต่ถ้าเกิดอาการปวดยังคงอยู่ จึงแนะนำการผ่าตัด
นอกจากการหยุดวิ่งแล้ว การลดการฝึกซ้อมอื่นๆที่เกี่ยวข้องลง ยังมีการดูแลเพื่อการรักษาอื่นอีก คือ การยืดกล้ามเนื้อเบาๆ การนวดคลายเนื้อเยื่ออ่อน เพื่อลดการยึดติดของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันกล้ามเนื้อ และการตรวจประเมินปัญหาทางกลไกการเคลื่อนไหวร่างกายที่อาจมีส่วนทำให้เกิดอาการ เป็นเรื่องสำคัญมากที่เพื่อนๆควรไปพบแพทย์หรือนักกายภาพบำบัดที่รู้จักนักวิ่งเป็นอย่างดี เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัย และรักษาที่ถูกต้อง เพราะโรคนี้อาจเปลี่ยนจากแย่เป็นแย่กว่ามากหากปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการตรวจสอบ
ในขณะที่การพักและการฟื้นฟูอาจช่วยได้ในนักวิ่งบางคน แต่บางคนอาจต้องจบลงที่การผ่าตัดตกแต่งพังผืดกล้ามเนื้อ (Fasciotomy) โดยเฉพาะเพื่อนๆที่ต้องการกลับไปวิ่งให้ได้ระดับเดียวกับก่อนบาดเจ็บ โดยแพทย์ผ่าตัดจะทำการตัดผิวหนังผ่านจากเข่าถึงข้อเท้าเข้าระหว่างเนื้อเยื่อเกี่ยวพันกล้ามเนื้อด้านหน้ากับด้านข้างเพื่อลดแรงดันภายในกล้ามเนื้อ หากเพื่อนๆมีอาการทั้งสองข้าง แพทย์จะทำการผ่าตัดทั้งสองข้าง และทำข้างเดียวหากเป็นเพียงข้างเดียว
การผ่าตัดชนิดนี้ถือว่าช่วยลดอาการได้ดี และไม่มีผลกระทบใดในระยะยาว เป้าหมายของการผ่าตัดก็เพื่อลดแรงกดต่อเส้นเลือด ถึงแม้ว่าการผ่าตัดต้องใช้ยาชาทั่วไป แต่ก็สามารถทำเป็นกระบวนการผู้ป่วยนอกได้ ดังนั้นเพื่อนๆสามารถกลับบ้านในวันเดียวกันได้เลย และเพื่อนๆจะค่อยๆกลับมาวิ่งได้อีกหลังจาก 6-8 สัปดาห์ ในความจริงแล้ว งานวิจัยได้ยืนยันแล้วว่า หากได้รับการวินิจฉัยและการทำกายภาพบำบัดอย่างเหมาะสม นักวิ่งสามารถกลับไปสู่กิจกรรมปกติในช่วง 8-12 สัปดาห์หลังการผ่าตัด และอาจจะน้อยได้ถึง 6 สัปดาห์
เปอร์เซ็นต์การประสบความสำเร็จของการผ่าตัดขึ้นอยู่กับว่าเป็นที่โพรงกล้ามเนื้อส่วนไหน หากผ่าที่โพรงกล้ามเนื้อทางด้านหน้า อัตราประสบความสำเร็จจะอยู่ที่ 60% – 80% (วัดโดยนับจำนวนนักวิ่งที่สามารถกลับไปวิ่งได้ที่ระดับเดียวกับก่อนการบาดเจ็บได้) ในขณะที่การผ่าตัดที่โพรงกล้ามเนื้อทางด้านหลังชั้นลึกมีอัตราประสบความสำเร็จเพียงแค่ 50% (ถึงแม้ว่าจะมีจำนวนคนที่เป็นน้อยมากก็ตาม) ในจำนวนคนที่ได้รับการผ่าตัดประมาณ 10% จะกลับมาเป็นใหม่ได้ในช่วง 2 – 3 เดือน ซึ่งมักจะเกิดจากโพรงกล้ามเนื้อยังเปิดกว้างไม่เพียงพอดังนั้นการผ่าตัดซ้ำอาจมีความจำเป็นสำหรับนักวิ่งเหล่านี้
จะเห็นได้ว่าประโยชน์หลัก 2 อย่างของการผ่าตัดคือ หยุดอาการปวดได้ และไม่กระทบกับสมรรถนะการวิ่งในทางลบเลยหลังจากที่หายแล้ว 100% นักวิ่งบางคนกลับไปฝึกซ้อมได้เร็วหลังการผ่าตัด
และโดยไม่ต้องคำนึงถึงการรักษาว่าเป็นอย่างไร นักวิ่งที่มีปัญหาภาวะความดันในโพรงกล้ามเนื้อสูงควรพยายามปักหมุดความผิดพลาดใดๆที่เกิดจากการฝึกซ้อมและทำให้เกิดปัญหาให้ได้นะคะ เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นซ้ำอีก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสมรรถนะพื้นฐานที่ยังไม่ดีพอ หรือจะเป็นเรื่องของความหนัก และระยะทางที่มากเกินไป ซึ่งปัจจัยเหล่านี้สามารถกลายเป็นจุดอ่อนของเพื่อนๆได้ อาจจะเป็นเรื่องดีที่เพื่อนๆจะให้นักกายภาพบำบัดที่เชี่ยวชาญเรื่องวิ่งช่วยดูท่าการวิ่งให้ด้วย
ยังมีอีกหนึ่งงานวิจัยนำร่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับนักวิ่งที่มีภาวะความดันในโพรงกล้ามเนื้อสูงทางด้านหน้า ที่ได้รับการรักษาโดยไม่ต้องผ่าตัด ด้วยการเปลี่ยนรูปแบบการวิ่งจากการวางส้นเท้าลงก่อนเป็นการวางปลายเท้าลงก่อน ในทางทฤษฎีแล้ว การวางปลายเท้าลงก่อนเป็นการลดการทำงานของกล้ามเนื้อหน้าแข้ง เพราะกล้ามเนื้อหน้าแข้งจะทำงานเยอะหลังจากวางส้นเท้าลง และต้องค่อยๆวางเท้าราบลงบนพื้นก่อนจะมีการยกส้นเท้าก้าวไปข้างหน้าต่อไป แต่การเปลี่ยนวิธีวางเท้านี้สามารถลดโอกาสการเกิดภาวะความดันในโพรงกล้ามเนื้อสูงทางด้านหน้าได้จริงหรือ?
นักวิจัยได้ตอบมาว่า อาจช่วยได้ ในงานวิจัย นักวิ่งที่มีภาวะความดันในโพรงกล้ามเนื้อสูงทางด้านหน้าจำนวน 10 คนได้ผ่านการเปลี่ยนการวางเท้าวิ่งมาเป็นปลายเท้าเป็นเวลา 6 สัปดาห์ หลังจากที่เปลี่ยนท่าวิ่ง พบว่าความดันในโพรงกล้ามเนื้อทางด้านหน้าลดลงไปครึ่งหนึ่ง และอาการปวดขณะวิ่งได้ลดลงไปอย่างเห็นได้ชัด และนักวิจัยยังติดตามผลไปอีก 1 ปี พบว่านักวิ่งทุกคนยังคงสบายดี และไม่ต้องได้รับการผ่าตัดแต่อย่างใด
แม้จะดูผลการศึกษาน่านำมาใช้ได้จริง แต่แท้จริงแล้วก็ยังไม่สามารถใช้กับนักวิ่งทุกคนที่มีภาวะความดันในโพรงกล้ามเนื้อสูงทางด้านหน้าได้ทั้งหมด และคงจะเป็นความคิดที่แย่มากๆถ้าจะนำไปใช้กับคนที่มีภาวะความดันในโพรงกล้ามเนื้อสูงทางด้านหลัง เพราะการวิ่งแบบลงปลายเท้ายิ่งมีแรงกระทำที่กล้ามเนื้อน่องมากกว่าปกติ นอกจากนั้น การเปลี่ยนท่าวิ่งไปเป็นแบบลงปลายเท้าอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บอื่นๆได้อีกด้วย เช่น กระดูกฝ่าเท้าหักล้า (Metatarsal stress fracture) การบาดเจ็บของกล้ามเนื้อน่อง หรือเอ็นร้อยหวายอักเสบจากความเสื่อม (Achilles tendonitis)
แล้วเมื่อไหร่เพื่อนๆจะสามารถกลับไปวิ่งได้อย่างปลอดภัย เพื่อนๆจะรู้ได้อย่างไร
เรามาถึงช่วงสุดท้ายของเรื่องภาวะความดันในโพรงกล้ามเนื้อสูงกันแล้ว เรามาดูกันว่า เมื่อไรนะที่เพื่อนๆจะสามารถกลับไปวิ่งได้ใหม่หลังจากการรักษาอาการบาดเจ็บโพรงกล้ามเนื้อนะคะ
นอกเหนือจากการมองหาจุดอ่อนที่เป็นสาเหตุประการแรกแล้ว เพื่อนๆควรระมัดระวังเรื่องของเวลาที่จะกลับไปวิ่งอีกครั้ง เพราะภาวะความดันในโพรงกล้ามเนื้อสูงนั้นต้องการการพักอย่างเต็มที่ก่อนที่จะกลับไปวิ่งใหม่ เพื่อนๆจึงไม่ควรกลับไปวิ่งที่ความหนักเท่าเดิมอย่างทันทีทันใด
ถ้าจะมีข่าวดีเกี่ยวภาวะความดันในโพรงกล้ามเนื้อสูงบ้างก็คงจะเป็นช่วงระยะเวลาที่ต้องพักหลังจากการผ่าตัดนั้นค่อนข้างสั้น เพื่อนๆสามารถออกกำลังกายแบบอื่นหรือออกกำลังในน้ำได้ในช่วง 1-2 สัปดาห์แรกหลังการผ่าตัด หรือก็คือเร็วที่สุดหลังจากที่แผลปิดสนิทดีแล้วค่ะ และเพื่อนๆสามารถกลับไปวิ่งได้ที่ 6-8 สัปดาห์
อย่าลืมพิจารณาแผนการรักษาด้วยว่า ได้รวมแนวทางที่จะฝึกเพื่อกลับไปวิ่งได้อีกครั้งหนึ่งไว้ด้วย ยกตัวอย่างเช่น เมื่ออาการปวดเริ่มลดลง การเดินได้โดยไม่มีอาการปวดจึงควรเป็นเป้าหมายในตอนนั้น และหากอาการดีขึ้นเรื่อยๆ ไม่กลับมาปวดใหม่ จึงค่อยเพิ่มเป็นการเดินสลับการวิ่งเป็นช่วงๆ และสุดท้ายจึงค่อยกลับไปวิ่งตลอดช่วงด้วยความเร็วช้าๆ แล้วจึงเพิ่มไปจนถึงความเร็วปกติที่เคยทำได้ โดยค่อยๆเพิ่มระยะทาง หรือไม่ก็เวลา
แม้ว่าการทำแบบนี้จะฟังดูน่าเบื่อหน่าย แต่การค่อยๆกลับไปวิ่งใหม่ จะช่วยให้เพื่อนๆสามารถกลับไปวิ่งเต็มที่ได้เร็วขึ้นกว่าการกลับไปวิ่งเต็มที่อย่างรวดเร็ว แล้วก็บาดเจ็บซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซึ่งจะทำให้เวลาในการบาดเจ็บและการหายยาวนานต่อเนื่องไปอีกจนจำกัดการวิ่งของเพื่อนๆได้อย่างถาวร ความอดทนหลังการบาดเจ็บเป็นเรื่องยากที่จะควบคุมได้ แต่มันจะสร้างความแตกต่างให้กับมุมมองการวิ่งของเพื่อนๆในอนาคตได้ ถึงแม้ว่าการทำกายภาพบำบัด และการค่อยๆกลับไปวิ่งนั้นจะต้องใช้ความวิริยะอุตสาหะมากๆ แต่ภาวะความดันในโพรงกล้ามเนื้อสูงนี้ไม่ใช่หัวข้อที่จะถูกนำมาพูดกันในเรื่องจบอาชีพการเป็นนักวิ่ง และนักวิ่งโดยส่วนใหญ่ที่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสม ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ต่างสามารถกลับไปวิ่งได้ตามปกติในเวลาไม่นาน
เรื่องของการปรับเท้าในการวิ่งคงต้องแล้วแต่คนนะคะ อาจลองวิ่งลงปลายเท้าได้หากเพื่อนๆมีภาวะความดันในโพรงกล้ามเนื้อสูงทางด้านหน้า แต่ก็อาจจะไม่ได้ผลในทุกคน ดังนั้น การค่อยๆกลับไปวิ่งอย่างช้าๆด้วยความระมัดระวัง จึงเป็นเรื่องที่ดีที่สุด
ขอให้เพื่อนนักวิ่งซ้อมอย่างพอดีเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะความดันในโพรงกล้ามเนื้อสูงกันนะคะ
Recent Comments