ความเข้มแข็งที่สุดที่เรามี คือการไม่ยอมแพ้

วันที่ 6 พ.ค. 2561 มีโอกาสได้เข้าร่วมงานวิ่งในตำนานที่มีชื่อว่า Bumrungrad 10-Hour Ultramarathon แห่งชมรมวิ่งสวนพฤกษ์ 99 ณ สวนนวมินทร์ภิรมย์ เนื่องจากเป็นงานที่ได้ชื่อว่าอัลตร้า และเราก็ไม่เคยคิดลงวิ่งอัลตร้า เลยไม่ได้สนใจอ่านรายละเอียด เพิ่งมารู้ว่ามีการวิ่งแบบทีมด้วย ทุกอย่างจึงใหม่หมดค่ะ ทั้งสถานที่ กติกา การเตรียมตัว เราไม่เคยร่วมงานลักษณะนี้เลยออกจะงงๆ เตรียมตัวไม่ค่อยถูก เนื่องจากทางโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ที่เรากำลังทำงานอยู่เป็นผู้สนับสนุนหลักของงาน จึงได้รับโควต้านักวิ่งผ่านมาทางชมรม Bumrungrad Running Club แรกๆเราคิดว่าจะขอไปเป็นอาสาสมัครบูธปฐมพยาบาลของโรงพยาบาล จึงไม่แจ้งความจำนงลงร่วมวิ่ง แต่ไปๆมาๆ ก็ได้รับการชักชวนมาวิ่งทีมจากทันตแพทย์ที่เป็นคนไข้ของเราเอง ด้วยความที่ทีมยังขาด 1 คน เลยยอมรับปากและคิดว่าขอวิ่งผลัดแรก แล้วค่อยไปช่วยที่บูธเอาละกัน
เรามาดูโปรแกรมซ้อมมาราธอน ก็เป็นจังหวะดีที่วันนั้นจะต้องซ้อมวิ่งเวลา 2:15 ชั่วโมง และการวิ่งแข่ง 1 ผลัดก็ใช้เวลา 2:30 ชั่วโมงใกล้เคียงกันพอดี กติกาของการวิ่งทีมมีอยู่ว่า ในหนึ่งทีมจะมี 4 ผลัด แต่ละผลัดวิ่ง 2.30 ชั่วโมง แล้วนำระยะทางที่ได้มารวมกันแล้วค่อยจัดอันดับค่ะ ทางผู้จัดได้ติดบิบไว้ที่ไม้ผลัด แล้วนักวิ่งแต่ละมือ ก็ต้องนำไม้ผลัดนี้มายื่นต่อให้กับเพื่อนในทีมผลัดต่อไปที่จุดปล่อยตัว ผู้จัดจะทำการปล่อยตัว 4 ครั้ง ครั้งที่ 1 ผลัดแรก ปล่อยตัวเวลา 6.00 น. ผลัดที่ 2 ปล่อยตัวเวลา 8.30 น. ผลัดที่ 3 ปล่อยตัวเวลา11.00 น. และผลัดที่ 4 ปล่อยตัวเวลา 13.30 น. ถ้ามาถึงก่อนเวลาปล่อยตัวจะหยุดวิ่ง ยื่นไม้ให้เพื่อน แล้วรอเวลาปล่อยตัวก็ได้ หรือจะวิ่งต่อไปก็ได้ แต่ถ้าวิ่งวนกลับมาถึงหลังเวลาปล่อยตัวก็ไม่เป็นไร เพราะจะย่นเวลาของเพื่อนผลัดต่อไปลง เท่านั้นเอง เมื่อจบการแข่งขันที่เวลา 16.00 น. ทางผู้จัดก็จะรวบรวมข้อมูลเป็นจำนวนรอบ ทีมไหนได้จำนวนรอบมากที่สุดก็จะเป็นผู้ชนะไป รอบหนึ่งของสวนนวมินทร์ภิรมย์เท่ากับ 2.1 กิโลเมตร ส่วนใครที่วิ่งเดี่ยว ก็ปล่อยตัวตั้งแต่ 6.00 น. วิ่งต่อเนื่องไปจนถึง 16.00 น. เลย หมดเวลาแล้วได้รอบเท่าไรก็เท่านั้นเลยค่ะ
เมื่อรับทราบกติกากันแล้ว และตกลงกันในทีมแล้วว่าเราเป็นนักวิ่งผลัดหนึ่ง ลำดับต่อไปก็คือการเตรียมตัวค่ะ เนื่องจากบ้านเราอยู่ไกลจากสวนพอสมควร และนัดรับเสื้อกับเพื่อนนักวิ่งของโรงพยาบาลที่ไปรับเสื้อมาให้ก่อนแล้วที่บูธโรงพยาบาลเวลา 5.00 น.เราจึงต้องตื่นตั้งแต่ 3.30 น. เลยรีบเตรียมของและล้มตัวลงนอนตั้งแต่ 21.30 น.

88 ความเข้มแข็งที่สุดที่เรามี คือการไม่ยอมแพ้ - 2

88 ความเข้มแข็งที่สุดที่เรามี คือการไม่ยอมแพ้ - 3

เราตื่นตามกำหนด กดจองแกลบแท๊กซี่ไว้ ขึ้น 8 นาทีว่าจะถึงยังไงก็ยังอย่างนั้น ผ่านไปร่วม 10 กว่านาที เลยยกหูถามคนขับว่าได้รับ Order ไหมค้า คุณเค้าตอบกลับมาว่า ได้ครับ แล้วก็เงียบไป เราเลยต้องถามกลับไปว่า แล้วอีกนานไหมกว่าจะมาถึง นี่ต้องออกจากบ้านแล้ว คุณก็ตอบมาแบบเรียบๆว่า “อีกสักพัก” เอิ่ม งงไปเลย เลยบอกยกเลิกไป แล้วออกไปโบกแท๊กซี่หน้าบ้าน บอกลาแกลบไปถาวรละ ก่อนหน้าก็เจอกรณีอย่างนี้เรื่อยๆยามเราตามเมื่อค่ำคืนเช่นนี้ โชคดีเจอแท๊กซี่ใจดี ยอมไปไกล และยังรู้จักทางเป็นอย่างดี เราเลยไม่เสียเวลาหลง แรกๆกะว่าจะขับรถไปเอง แต่เนื่องจากเป็นทางที่ไม่คุ้นเคย และมีที่จอดน้อยต้องจอดข้างถนน จึงตัดสินใจไม่ขับรถไปดีกว่า
เราถึงบริเวณงานประมาณตีห้า ยืนทานขนมปังที่เตรียมไว้ รอไม่นานก็เจอกับคนในทีม แรกๆว่าจะใส่เสื้อของงานวิ่ง แต่พอเปลี่ยนแล้ว อากาศที่อบอ้าว ทำให้ร้อน จึงเปลี่ยนเป็นเสื้อกีฬาที่ระบายอากาศดีกว่า เปลี่ยนเสื้อเสร็จจึงมาถ่ายรูปเก็บบรรยากาศกับทีมก่อนปล่อยตัว เรายืดกล้ามเนื้อไม่นานก็ถึงเวลาปล่อยตัวย

88 ความเข้มแข็งที่สุดที่เรามี คือการไม่ยอมแพ้ - 4

สำหรับการวิ่งทีม นักวิ่งผลัดแรกจะถูกปล่อยตัวพร้อมๆกับนักวิ่งเดี่ยว เราจึงมีเพื่อนวิ่งมากมาย ลักษณะสนามแข่งนี้ เป็นสวนรูปวงรี มีสะพานอยู่หัวท้าย สะพานไม่สูงมาก แต่พิธีกรได้กล่าวไว้ว่า แรกๆมันก็เป็นสะพานดีๆอยู่ วิ่งไปๆ มันจะกลายเป็นภูเขาแทน ก็ขำๆกันไปค่ะ เพราะฉะนั้น เราก็แค่วิ่งวนซ้ายไปเรื่อยๆ ช่วงแรกก็นับรอบได้ แต่วิ่งไปวิ่งมาแล้วเหนื่อย เลยนับไม่ถูกก็ช่างมัน ใช้นาฬิกาจับระยะของมันไป วันนี้บอกตัวเองว่า วิ่งให้ดีที่สุดในช่วงเวลาของเราเอง

88 ความเข้มแข็งที่สุดที่เรามี คือการไม่ยอมแพ้ - 5

88 ความเข้มแข็งที่สุดที่เรามี คือการไม่ยอมแพ้ - 6

เราวิ่งไปเรื่อยๆ ก็เริ่มสังเกตสองข้างทางว่ามีเต๊นท์จากกลุ่มและชมรมวิ่งมาตั้งเพื่อดูแลนักวิ่งในกลุ่มตัวเอง มีอาหารว่าง ทั้งหนักทั้งเบาคอยบริการ บางเต๊นท์มีอาหารเผื่อนักวิ่งทุกคน พร้อมเรียกให้เข้าไปรับ แต่บางเต๊นท์ก็มีเฉพาะกลุ่มตัวเอง อย่างเช่น แก้วน้ำที่เขียนชื่อนักวิ่งแต่ละคนเอาไว้ และมีคนคอยเติมให้พร้อมเมื่อนักวิ่งในกลุ่มตัวเองวิ่งวนมาถึง อาหารมีตั้งแต่ กล้วย แตงโม ขนมปัง ครัวซอง ข้าวต้มมัด เค้กกล้วยหอม ไอติมถัง ไอติมโคน น้ำเฉาก๊วย ข้าวไข่เจียว ไมโล และอีกเยอะแยะมากมาย ละลานตาไปหมด เราไม่เคยเจอสนามวิ่งไหน อาหารการกินอุดมสมบูรณ์เช่นนี้มาก่อน และรู้สึกได้ถึงบรรยากาศอบอุ่นใจ การพร้อมช่วยเหลือ และเผื่อแผ่ระหว่างนักวิ่งด้วยกันเอง เห็นนักวิ่งหลายๆคนทักทายกันเอง ทุกคนมารวมตัวกันเพราะใจรักในเรื่องเดียวกัน คือการวิ่ง มีการชี้ชวนดูคนเก่งๆที่มาร่วมการแข่งขันเพื่อเป็นแรงบันดาลใจ มีการเชียร์เพื่อนนักวิ่งด้วยกันเอง เราเจอคุณลุงท่านหนึ่งแกยืนเชียร์นักวิ่งแบบมองตาต่อตา ตั้งแต่ผลัดแรกที่เราวิ่ง ไปจนถึงผลัดสุดท้ายที่เราถามเพื่อนว่ายังเห็นคุณลุงยืนเชียร์อยู่ไหม เพื่อนบอกว่ายังยืนอยู่ สุดยอดมากค่ะ

88 ความเข้มแข็งที่สุดที่เรามี คือการไม่ยอมแพ้ - 7

เรากะว่าจะพกกล้วยตากทานระหว่างวิ่ง ร้างกายเราต้องทานทุก 1 ชั่วโมง ปรากฎว่าเราลืมพกกล้วยตากของเรามา แต่เราก็หมดห่วงทันทีเมื่อเห็นเต๊นท์ของครูดิน ของกินเยอะมาก เราเลยได้แวะหยิบกล้วยหอม ที่หั่นครึ่งแล้ว พอดีคำ ไม่มากเกินไปมาทาน เราจะเดินทานตอนขึ้นสะพาน ลงสะพานมาก็วิ่งต่อ เต๊นท์ของครูดิน อยู่ก่อนขึ้นสะพานพอดี ก็เลยคว้าได้ทั้งน้ำและกล้วยเดินทาน วิ่งลงสะพานมาเจอตากล้องพอดี ขำตัวเองที่มือหนึ่งถือกล้วย มือหนึ่งถือน้ำ เลยได้ภาพตอนยิ้มมาพอดี เป็นรูปวิ่งที่ดูมีความสุขที่สุดตั้งแต่วิ่งมา เพราะได้ทานอะไรที่ร่างกายต้องการในยามอากาศร้อนแรง เป็นใครก็คงมีความสุข เราไม่แปลกใจที่ช่วงบ่าย เห็นนักวิ่งหลายคนวิ่งไป ถือจานข้าวไข่เจียวทานไปด้วย เป็นทักษะที่ล้ำเลิศมาก

88 ความเข้มแข็งที่สุดที่เรามี คือการไม่ยอมแพ้ - 8

เราวิ่งๆไปได้สักสองชั่วโมงนิดๆเริ่มมีอาการปวดท้อง แต่พอทนได้ ก็เลยฝืนใจวิ่งต่อไป เหลืออีก 20 นาทีจะหมดรอบของเรา เราทนไม่ไหวเลยเข้าห้องน้ำ ปรากฎว่าท้องเสีย จับเวลานั่งอยู่ในห้องน้ำ 1 นาทีครึ่ง แล้วรีบออกมาวิ่งต่อ ตอนที่วิ่งถึงเส้นชัยรอบที่ 9 ยังเหลืออีก 1 รอบ แต่เวลาไม่ถึง 15 นาทีดี เราก็คิดว่าจะเอาไงดี อีกรอบจะทันไหม ตอนนั้นมันก็ล้าได้ที่แล้ว แต่สุดท้ายก็กัดฟันวิ่งต่อ ถ้าหยุดก็จะเสียดายเวลามาก แม้ตอนนั้นจะยังมีปวดบิดในท้องเป็นพักๆ แต่พอขาเราออกวิ่ง ความรู้สึกปวดท้องจะหายไป เรามุ่งความสนใจไปที่เสียงพิธีกรบนเวที ที่คอยแจ้งเวลาที่เหลือสำหรับผลัดแรก และคอยเรียกนักวิ่งผลัดที่ 2 มาเตรียมตัว ตอนที่เหลือกิโลเมตรสุดท้าย เราเหลือ 5 นาที ก็เลยอัดไปเลยเต็มที่ เข้าเส้นชัยครบรอบที่ 10 ตอนนาทีสุดท้ายพอดี เพื่อนผลัดสองมารอรับอยู่แล้ว ก็รีบส่งไม้ให้เพื่อน แล้วเราก็แยกออกมานั่งพัก และยืดเหยียดรอเชียร์เพื่อนต่อไป เราต้องขอขอบคุณซุ้มที่แจกน้ำเฉาก๊วยเย็นเจี๊ยบเป็นเกร็ดน้ำแข็งในรอบที่ 9 เพราะเหมือนช่วยเพิ่มพลังวิ่งในรอบที่ 10 ได้เป็นอย่างดีค่ะ
เราเพิ่งมารู้ตัวตอนเข้าเส้นชัย ว่าเราใส่บิบผลัดที่ 4 มาวิ่งผลัดที่ 1 คงเพราะตอนส่งชื่อลงทะเบียนเกิดการสลับกัน แต่พี่ที่เส้นชัยแจ้งว่าไม่เป็นไร งานที่วิ่งวนแบบนี้มีดีอย่างหนึ่งก็คือ เราสามารถคอยเชียร์เพื่อนที่วิ่งครบรอบได้ ทำให้มีกำลังใจเพิ่มขึ้นได้ทุกรอบที่วิ่งมา แค่เสียงเรียกชื่อ ปรบมือ ส่งเสียงเชียร์ ก็ช่วยได้มากแล้ว แม้เราจะเหนื่อยอย่างไรก็ยังคงสอดส่ายสายตามองหาเพื่อนทีมเราที่วิ่งมา และคอยส่งเสียงเรียกให้กำลังใจเท่าที่ทำได้ค่ะ

88 ความเข้มแข็งที่สุดที่เรามี คือการไม่ยอมแพ้ - 9

ระหว่างวัน ที่บริเวณเวทีข้างๆจุดปล่อยตัว จะมีการขับกล่อมด้วยเพลงเพราะๆหลากหลาย แต่เพลงกลุ่มหนึ่งที่ช่วยนักวิ่งได้มากคือกลุ่มเพลงให้กำลังใจ อย่างตอนเราวิ่ง จำได้แม่นเลยว่า มีช่วงที่อากาศอบอ้าวมาก แม้แดดจะไม่ส่องตรงๆ หลบเข้าไปอยู่หลังเมฆดำ แต่ก็สร้างความอึดอัดให้กับเราพอสมควร แล้วเพลงนาทีที่ยิ่งใหญ่ ของคริสติน่า อากีล่าร์ ก็ดังขึ้น ยิ่งท่อนสร้อยนี่ยิ่งปลุกเร้าใจได้เป็นอย่างดี “เพราะฉันนั้นต้องการมี เสี้ยวนาทีที่ยิ่งใหญ่ให้ใจจดไว้ นานเท่านาน อยากจะได้ภูมิใจ ที่มือฉันเคยได้เอื้อมผ่าน ได้เก็บดาว ที่แสนไกล ด้วยตัวฉันเอง” อาจเปลี่ยนคำว่ามือเป็นเท้าแทนสำหรับนักวิ่งอย่างเราๆ นี่ขนาดนักวิ่งทีมอย่างเรายังอิน เราเชื่อว่าสำหรับนักวิ่งเดี่ยวแล้ว จะช่วยให้กำลังใจพวกเขาได้มากจริงๆ นอกจากนั้นก็ยังมีเพลงของบอดี้สแลม รวมไปถึงเพลง ใจสู้หรือเปล่าของหินเหล็กไฟ จำได้ว่านั่งฟังอยู่ข้างเวทีช่วงบ่ายที่เราหมดภารกิจการวิ่งของเราแล้ว แต่เรายังเห็นเพื่อนนักวิ่งเดี่ยวที่มุ่งมั่นยังคงไม่หยุดวิ่งอาจมีบางคนเริ่มเดินแล้ว แต่เราก็อยากจะให้กำลังใจผู้กล้าเหล่านั้นมากๆ ยิ่งได้เห็นความทุ่มเท ความตั้งใจ ความกล้าหาญของเพื่อนๆแล้ว ยิ่งตื้นตันใจ โดยเฉพาะเราเองที่ยังไม่กล้าจะวิ่งไปไกลถึงขนาดอัลตร้ามาราธอน ยิ่งได้มาเห็นภาพเหล่านี้แล้ว ยิ่งรู้สึกยอมใจเพื่อนๆกันเลยทีเดียว เลยหวังว่า เพลงให้กำลังใจเหล่านั้นจะช่วยให้เพื่อนนักวิ่งมีแรงส่งไปที่ขาให้ยกก้าวต่อไปข้างหน้าได้ดีขึ้น

88 ความเข้มแข็งที่สุดที่เรามี คือการไม่ยอมแพ้ - 12

88 ความเข้มแข็งที่สุดที่เรามี คือการไม่ยอมแพ้ - 13

ช่วงบ่ายเราแวบไปนั่งพักที่ใต้ต้นไม้ เพราะเพลียจากวิ่งตอนเช้า ปกติถ้าวิ่งแบบนี้จะกลับบ้านไปนอนพัก แต่วันนี้อยากรอเพื่อนวิ่งให้จบงาน รวมความเพลียกับแดดร้อนๆ นั่งไปนั่งมาเลยเอนหลังงีบสักหน่อย ฟังเพลงเพราะๆไป หลับไป ช่วงหลับก็มีลมพัดมาเย็นๆ และเป็นช่วงที่ฟ้าครึ้มพอดี หลับไปได้สักครึ่งชั่วโมง ตื่นมาเลยหลบร้อนไปซื้อกาแฟร้านแถวนั้นทาน รสชาติกาแฟที่ดี และแอร์เย็นๆ เราเลยตื่นเต็มที่ กลับมานั่งรอเพื่อนผลัดสุดท้ายเข้าเส้นชัย

พอเพื่อนเข้าเส้นชัยมาแล้ว เราก็ไปช่วยยืนรอรับผลการแข่งขัน ซึ่งเกิดการยืนรอแถวยาวมาก เพราะมีอยู่เครื่องเดียว แต่ไม่ว่าจะเหนื่อยมาขนาดไหน เพื่อนนักวิ่งก็ยืนต่อคิวกันอย่างเป็นระเบียบ และอดทน บางคนยังหอบอยู่ต้องมีเพื่อนมายืนพัดให้ เราเองหายเหนื่อยแล้ว ก็เลยยืนต่อได้อย่างไม่เป็นปัญหา

88 ความเข้มแข็งที่สุดที่เรามี คือการไม่ยอมแพ้ - 15

ผลการวิ่งทีมเราวิ่งได้ทั้งหมด 38 รอบ โดยที่เราวิ่งไป 10 รอบ ส่วนเพื่อนในทีมก็วิ่งกันคนละ 9 และ 10 รอบกัน ก็ถือว่าไล่เลี่ยกันดี เป็นทีมที่เข้ากันดี แม้ไม่เคยวิ่งด้วยกันมาก่อน ทั้ง 4 คนใช้เวลาวิ่งไปทั้งหมด 9:52:59 ชั่วโมง ถือเป็นความสำเร็จเล็กๆของทีมที่ทำร่วมกัน ที่ภูมิใจเพราะทีมเราเป็นทีมเฉพาะกิจมาก มีทั้งแพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัด และ Fitness Trainer ทั้งหมดไม่เคยเจอหน้ากันมาก่อน เพิ่งจะได้มาพูดคุยกันก็วันนี้ แต่ด้วยใจรักการวิ่งเหมือนกัน ก็เลยเข้ากันได้ดี หลังจบงานนั่งรถกลับบ้านด้วยกัน เลยเล่าเรื่องราวแต่ละรอบให้ฟังกันอย่างสนุกสนาน

88 ความเข้มแข็งที่สุดที่เรามี คือการไม่ยอมแพ้ - 16

กลับมาบ้านก็ดูอันดับของทีมเราสักหน่อย ทีมเราได้ลำดับที่ 31 จากทั้งหมด 76 ทีม เรียกได้ว่าเกินความคาดหมายไปมาก ว่ากันตามจริง เรียกว่าไม่ได้คาดหวังอะไรมากกว่า พวกเราวิ่งจำนวนรอบน้อยกว่าที่ 1 แค่ 20 รอบเองค่ะ เอิ๊ก

88 ความเข้มแข็งที่สุดที่เรามี คือการไม่ยอมแพ้ - 17

ถ้ามาดูอันดับ 1 ของประเภทเดี่ยว สำหรับปีนี้ก็เป็นที่น่าแปลกใจมากที่อันดับ 1 โอเวอร์ออลทั้งชายและหญิง อยู่ในรุ่น 50 ปีทั้งสิ้น ถือเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของงานสวนพฤกษ์ที่จัดมาทั้งหมด 8 ครั้งเลยล่ะค่ะ โดยที่ที่หนึ่งโอเวอร์ออลชายคือพี่จรัญ พูลสวัสดิ์ ทำได้ 48 รอบระยะทาง 100.80 กิโลเมตร ในขณะที่โอเวอร์ออลฝ่ายหญิงก็ไม่น้อยหน้า วิ่งได้ 44 รอบ ระยะทาง 92.40 กิโลเมตร ซึ่งก็คือพี่สายปัญญา ตันวิไล โอ้ว ว้าว! พี่เค้าสุดยอดกันจริงๆค่ะ อยากจะคุกเข่า คารวะ แลกเหล้า 1 จอก ขอเป็นลูกศิษย์กันตรงนั้นเลย ขออนุญาตนำรูปพี่ทั้งสองคนมาลงเพื่อสร้างแรงบันดาลใจสักหน่อยนะคะ เห็นพี่เค้าวิ่งกันตั้งแต่ปล่อยตัว จนใกล้จะบ่ายสี่โมง ความเร็วแทบไม่ตกเลยสักนิด นี่ล่ะนะ ที่เค้าเรียก “คนจริง” คำว่า “ยอมแพ้” คงไม่มีในความคิดพี่ๆแน่ๆ และคงต้องฝึกฝนมาเป็นอย่างดีด้วย จึงสามารถเอาชนะนักวิ่งรุ่นน้องได้อย่างมหัศจรรย์ค่ะ

เราประทับใจบรรยากาศของงานนี้มาก ถึงขนาดว่าอยากจะมาตั้งเต๊นท์ให้กับเพื่อนๆนักวิ่งจากชมรม Bumrungrad Running Club ในปีหน้า แม้จะไม่ได้นัดแนะอะไรเลยสำหรับปีหน้า แต่ก็เหมือนจะรับรู้กันว่าอยากจะมาอีกแน่นอน
เราจบวันด้วยความอิ่มใจ ตื้นตันใจ สนุก และอบอุ่น แม้ร่างกายจะเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า แต่ก็เหมือนมีพลังงานบางอย่างที่ทำให้เรากลับบ้านไปอย่างมีความสุข คงเป็นพลังงานของใจที่รักการวิ่ง การไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค การไม่ยอมแพ้ต่อความเหนื่อยเมื่อยล้า ความมุ่งมั่นที่จะทำสิ่งที่วาดฝันได้สำเร็จ พลังงานเหล่านี้มันมาอยู่รวมกันมากๆ ส่งผลให้เกิดพลังงานที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น คือพลังแห่งแรงบันดาลใจ คงไม่มีใครที่มางานนี้จะปฏิเสธได้ว่า “ฉันจะไม่มาอีก” เพราะเราจะได้รับ “ชัยชนะ” แม้จะวิ่งเข้าเส้นชัยเป็นคนสุดท้ายก็ตาม งานนี้จึงเป็นงานที่เหมาะสมกับการมาตามหา “เส้นชัยในใจของนักวิ่ง” ที่แต่ละคนได้ตั้งเอาไว้เอง และจะต้องพิชิตมันให้ได้ด้วยตัวเอง

88 ความเข้มแข็งที่สุดที่เรามี คือการไม่ยอมแพ้ - 20

สำหรับงานสวนพฤกษ์ 10 ชั่วโมงอัลตร้ามาราธอนนี้ จะเป็นอีกงานที่พลาดไม่ได้ประจำปีของนักวิ่งตัวเล็กๆคนหนึ่ง ใครอยากสัมผัสกับบรรยากาศของการให้กำลังใจในทุกชัยชนะของนักวิ่ง เราอยากขอให้เพื่อนๆได้ก้าวเข้ามาร่วมงานวิ่งนี้สักครั้ง แล้วจะไม่รู้จักกับคำว่าพ่ายแพ้ เพราะความอ่อนแอจะไม่สามารถทำอะไรเราได้

ขอให้เพื่อนนักวิ่งที่มีความฝันกับการวิ่งอัลตร้ามาราธอน ได้มาลิ้มรสบรรยากาศงานนี้กันสักครั้งนะคะ

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

%d bloggers like this: